วันนี้ (8 สิงหาคม 2562) นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. พร้อมด้วย นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นำเจ้าหน้าที่พร้อมผู้เสียหาย จำนวน 4 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดี หลังพบว่า มีมิจฉาชีพโฆษณาหลอกขายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าอ้างว่าลดค่าไฟได้ ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage : Expert Electric อีกทั้งยังละเมิดแอบอ้างหน่วยงานรัฐหรือผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ หรือนำภาพข่าวของ 3 การไฟฟ้า มาตัดต่อโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชน ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายจาตุรงค์ เปิดเผยว่า กฟน. กฟผ. และ PEA มีความห่วงใยประชาชนที่ถูกหลอกลวงดังกล่าวอย่างยิ่ง จึงได้แจ้งดำเนินคดีทางกฎหมายกับมิจฉาชีพผู้แอบอ้างหลอกลวงประชาชนอย่างถึงที่สุด เนื่องจากพบว่ามีการละเมิดนำภาพตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานทั้ง 3 การไฟฟ้า มาตัดต่อ แอบอ้างหลอกจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า รวมถึงแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐหรือผู้มีชื่อเสียงผู้นำมาโฆษณาชวนเชื่อสร้างความน่าเชื่อถือในช่องทางสื่อสารโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อถูกหลอกลวงเสียทรัพย์จำนวนมาก โดยวันนี้ได้นำหลักฐานพร้อมเชิญผู้เสียหายมาแจ้งความดำเนินคดีกับ บก.ปอท. รวมถึงเชิญสื่อมวลชนมาร่วมทำข่าวเพื่อสื่อสารถึงประชาชนให้ระมัดระวังไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพมาหลอกลวงได้อีก ทั้งนี้ กฟน. กฟผ. และ PEA ยืนยันว่าอุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟฟ้าหรือช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในบ้านนั้นไม่มีอยู่จริง สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่มีการนำมาแอบอ้างหลอกลวงจำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น อาจเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค โดย 3 การไฟฟ้าตรวจสอบแล้ว พบว่ามี 3 ลักษณะคือ 1) เป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุ และประเภทที่ภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลย มีเพียงวัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น 2) เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรง และ 3) เป็นบัตรสำหรับติด หรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริง และอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติ หรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งหากนำมาใช้อาจมีความผิดตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำวิธีการประหยัดไฟฟ้าที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าโดยเปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การเปิดพัดลมช่วยให้อากาศมีการเคลื่อนที่ทำให้รู้สึกเย็นเพิ่มขึ้นได้ และไม่แช่อาหารร้อนในตู้เย็น รวมถึงไม่ควรเปิด-ปิด ตู้เย็นบ่อยครั้งจะส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย อีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้คือ การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED เลือกใช้เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ 3 การไฟฟ้า หรือติดต่อผ่าน MEA Call Center โทร. 1130 หรือ PEA Call Center 1129 หรือศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร. 1416 ที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. กล่าวว่า รูปแบบการหลอกลวงดังกล่าวผมได้บ่อย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงจำนวนเงินไม่มาก ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่าย ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่ซื้ออุปกรณ์ในลักษณะที่เข้าข่ายการหลอกลวงเหมือนในกรณีนี้ เข้าแจ้งความเพิ่มเติมที่ บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป
▶️ Facebook : https://www.facebook.com/497340003626475/posts/2890768747616910?sfns=mo
▶️ Website : https://www.mea.or.th/content/detail/87/4868
▶️ Twitter : https://twitter.com/mea_news/status/1159331909048164352?s=21
▶️ Gnews : https://gnews.apps.go.th/news?news=44826