กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- กลุ่มพนักงานช่อง 3 ร้องศาลแรงงานกลาง ระบุถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมเตรียมร้อง กสทช.ระงับแผนคืนช่องทีวีดิจิทัล
ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม กลุ่มพนักงานฝ่ายข่าว และผู้ผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ประมาณ 30 คน เดินทางมาที่ศาลแรงงานกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมและปรึกษานิติกร กรณีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หลังมีการคืนช่องสัมปทานทีวีดิจิทัล ช่อง 13 Family และ ช่อง 28 SD โดยมีตำรวจ สน.บางรัก มาดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบ ในขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนหลายสำนักสนใจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มพนักงานใช้เวลาหารือนิติกรนานกว่า 1 ชั่วโมง
นายวรชิต ตรีพืช อายุ 49 ปี โปรดิวเซอร์ข่าวการเมือง ในฐานะตัวแทน กล่าวว่า ตนทำงานมา 23 ปี ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับใคร เพียงแต่มาปรึกษานิติกรเพื่อหาแนวทาง ฝากถึงผู้บริหารว่าควรจะมีการพิจารณาข้อมูลหรือตอบคำถามให้รอบคอบก่อนที่มีการตัดสินใจ ที่ผ่านมาไม่ความชัดเจนให้พนักงาน
ที่มาร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้มีหลายเหตุผล เช่น 1.ผู้บริหารไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โดยให้พนักงานพ้นสภาพโดยทันทีก่อนที่จะมีการยุติออกอากาศของช่อง 13 Family และ ช่อง 28 SD 2.การจ่ายเงินชดเชยพิเศษไม่เป็นไปตาม มาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน ทั้งที่มาตรา 44 คำสั่ง คสช.ที่ระบุว่าต้องดูแลพนักงานอย่างดี รวมทั้งมีหนังสือชี้แจงจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่าจะให้เงินชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
3.บริษัทปลดพนักงานออก อ้างเรื่องการลดต้นทุน แต่บริษัทก็มีการรับพนักงานใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เงินเดือนที่สูง 4.พนักงานมีการทำหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมยื่นไปที่ผู้บริหาร แต่ได้รับการเพิกเฉย โดยในสาระสำคัญจะเป็นการถามเกี่ยวกับเกณฑ์ในการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ 5.มีการเลิกจ้างคนที่อยู่ในบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัลเลย ทั้งนี้ กลุ่มพนักงานจะเดินทางไปที่ กสทช. เพื่อหารือแนวทางอื่นๆ ต่อไป
ด้านศาลแรงงานกลางออกเอกสารข่าวให้สื่อมวลชนว่า ตามที่พนักงานช่อง 3 ประมาณ 30 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง ได้มาปรึกษาการฟ้องร้องคดีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จากการสอบถามข้อเท็จจริงได้ความว่า ทางช่อง 3 เลิกจ้างด้วยสาเหตุสภาวการณ์อุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิทัลประสบภาวะแข่งขันของคู่แข่ง มีผลต่อธุรกิจ ซึ่งเบื้องต้นได้จ่ายเงินช่อง 3 ตามกฎหมายแรงงานให้แล้ว แต่พนักงานกลุ่มดังกล่าวยังเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนอื่น และยังสงสัยว่าตนยังมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยามากกว่านี้หรือไม่
จากการให้คำปรึกษาแก่กลุ่มพนักงาน แต่ยังขาดเอกสารที่เกี่ยวข้อง จึงยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนเพียงพอในการยื่นฟ้องร้อง.-สำนักข่าวไทย