กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – สอน.ติดตามผลกระทบจากการขึ้นภาษีความหวาน กรมสรรพสามิตยันรัฐมีมาตรการดูแลอ้อยทั้งระบบ
จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องของผลกระทบจากการขึ้นภาษีความหวานอาจทำให้ภาคเอกชนหลายรายเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้า โดยใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งในอนาคตจะทำให้ความต้องการอ้อยที่นำมาใช้ผลิตน้ำตาลลดลง หวั่นส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศตั้งแต่ปี 2560 มีปริมาณ 2.6 ล้านตัน ปี 2561 มีปริมาณ 2.5 ล้านตัน และปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีการบริโภคน้ำตาลทรายตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม 1.46 ล้านตัน และคาดว่าจะมีปริมาณการบริโภคปีนี้ประมาณ 2.6 ล้านตัน จะเห็นได้ว่าการบริโภคน้ำตาลทราย 3 ปีที่ผ่านมามีปริมาณใกล้เคียงกัน ซึ่งการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้บริโภคโดยตรงและผู้บริโภคโดยอ้อม โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้บริโภคโดยอ้อมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2561 มีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 580,000 ตัน และปี 2562 อยู่ที่ 570,000 ตัน จะเห็นได้ว่ามีปริมาณใกล้เคียงกันโดยลดลงประมาณ 10,000 ตัน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกอ้อยซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 12 – 14 % ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศและการส่งออกน้ำตาลมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ประมาณ 5 – 6% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณสตอกน้ำตาลของไทยสูงขึ้น ประกอบกับราคาอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของราคาอ้อย ตกต่ำ การขึ้นภาษีความหวานอาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันคนไทยให้ความสนใจรักษาสุขภาพลดการบริโภคน้ำตาลตามกระแสนิยม
สำหรับปัจจุบันการนำอ้อยและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพซึ่งมีมูลค่าสูงถือเป็นทางออกและการเพิ่มมูลค่าและเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ยั่งยืน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างต่อเนื่องและดูแลระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ขณะที่กรมสรรพสามิตระบุว่าภาครัฐมีการพิจารณาอุปสงค์และอุปทานของอ้อยทั้งระบบเพื่อลดผลกระทบ โดยมีการวางแผนเพิ่มมูลค่าตลาดทั้งในประเทศและการส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าของอ้อย โดยให้นำไปใช้ในการผลิตสินค้าอื่น อาทิ เอทานอลเพื่อเป็นพลังงานในประเทศและการส่งออก เป็นต้น ส่วนการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะดูแลชนิดสารและปริมาณที่เหมาะสมในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่สามารถเติมในเครื่องดื่มได้ ซึ่งต้องพิจารณาปริมาณที่เหมาะสมและดำเนินการควบคุมควบคู่กันไปด้วย.-สำนักข่าวไทย