กรุงเทพฯ 29 ก.ค.- รมว. เกษตรฯ สั่งการกรมวิชาการเกษตรเร่งรัดตรวจประเมินมาตรฐานการผลิตผลไม้ภาคใต้และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ตลาดต่างประเทศถึงคุณภาพผลไม้ไทย
ขยายตลาดส่งออก ป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งเร่งตรวจประเมินให้การรับรองผลไม้ภาคใต้ตามมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดี
(GAP) และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก (GMP)
ให้ทันฤดูการส่งออกปี 2562 ขณะนี้เตรียมให้การรับรองมาตรฐาน GAP
และ GMP ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนได้แก่ ชุมพร
สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต
โดยคณะกรรมการจะพิจารณารับรอง GAP แปลงทุเรียนในวันที่ 30 กรกฎาคม 3263
แปลงและวันที่ 2 สิงหาคมรับรองเพิ่มอีก 3,550 แปลง มังคุด 3,055 แปลง
ส่วนการรับรองมาตรฐาน GMP ของโรงคัดบรรจุดำเนินการแล้ว 419 โรง
เหลืออีก 93 โรงจะเร่งพิจารณาในต้นสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
(สศก.) ระบุว่า ผลผลิตไม้ผล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนจะมี 542,797 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี
2561 ที่มี 396,168 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.01
เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับราคาไม้ผลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี
2560 โดยเฉพาะทุเรียน
เกษตรกรจึงเอาใจใส่ดูแลสวนผลไม้มากขึ้นทำให้ผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลเพิ่มขึ้นเพราะสภาพต้นสมบูรณ์
โดยทุเรียนมีเนื้อที่ปลูก 369,913 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 6.37 เนื้อที่ให้ผล 283,395 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ
10.26 ผลผลิตรวม 338,270 ตัน
เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.94 ผลผลิตเฉลี่ย 1,194
กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.80 มังคุดมีเนื้อที่ปลูก 190,621 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี
2561 ร้อยละ 0.23 เนื้อที่ให้ผล 181,681 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.71 ผลผลิตรวม 129,022 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.61
ผลผลิตเฉลี่ย 710 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.31 เงาะมีเนื้อที่ปลูก 47,973 ไร่
ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 9.53 เนื้อที่ให้ผล 46,667 ไร่ ลดลงร้อยละ 10.27 ผลผลิตรวม
50,360 ตัน ลดลงร้อยละ 1.95 ผลผลิตเฉลี่ย
1,079 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.21
ทั้งนี้สาเหตุที่เนื้อที่ให้ผลเงาะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น
เช่น ทุเรียน มังคุด ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และลองกองมีเนื้อที่ปลูก 57,443 ไร่
ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 22.77
เนื้อที่ให้ผล 56,121 ไร่ ลดลง ร้อยละ 22.33 ผลผลิตรวม 25,145 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.61
ผลผลิต 448 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.37
สำหรับลองกองแม้เนื้อที่ให้ผลลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น
แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่วงแล้งที่เหมาะสมให้ลองกองออกดอกมากกว่าปีที่ผ่านมาจึงส่งผลให้ผลผลิตปีนี้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลผลิตภาคใต้ตอนล่างประมาณการณ์ว่าจะมี
169,205 ตันหรือคิดเป็นร้อยละ 23.76
ของผลผลิตทั้งภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดซึ่งคาดว่า จะมีผลผลิตรวมประมาณ 712,002 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลผลิต 529,385
ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.20 ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8
จ.สุราษฎร์ธานี (สศท.8) รายงานว่า
ผลไม้ภาคใต้จะออกมากสุดในเดือนสิงหาคมซึ่งแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปีนี้ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ
โดยเฉพาะการส่งออกไปยังต่างประเทศซึ่งต้องมีการรับรองทั้งมาตรฐาน GAP และ
GMP ซึ่งหากขยายการส่งออกได้มากขึ้นจะสามารถทำให้ผลผลิตของผลไม้ภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคงรักษาเสถียรภาพราคาไว้ได้
โดยไม่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ.-สำนักข่าวไทย