ลาว 24 ก.ค.-ผู้บริหารโครงการเขื่อนไซยะบุรี ใน สสป ลาว พาสำรวจเขื่อน พร้อมแจงทุกข้อสงสัย ยืนยันบริหารจัดการน้ำแบบ Inflow เท่ากับ Outflow ไม่ได้กักเก็บน้ำไว้ จนเป็นเหตุทำให้น้ำโขงแห้ง
หลังมีข้อถกเถียงว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ใน สปป ลาว เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้น้ำโขงแล้ง กระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศ บริษัทซีเค พาวเวอร์ ได้พาสื่อมวลชนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในโครงการ ยืนยันไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้น้ำโขงแห้ง แต่เกิดจากปัญหาภัยแล้งหลวงพระบาง ซึ่งอยู่เหนือไซยะบุรีแล้งที่สุดในรอบร้อยปี อีกทั้งน้ำจากเขื่อนจิ่งหงของจีน และลำน้ำต่างๆ จากลาวและเมียนมา ก็ไหลลงมาน้อยลง เขื่อนไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น มีการบริหารจัดการแบบ Inflow เท่ากับ Outflow การปล่อยน้ำไหลผ่านในแต่ละวันเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า ไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ ทั้งในขั้นตอนการทดสอบระบบ และการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
โครงการนี้ ออกแบบตามข้อกำหนดของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC มีประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวา กว้าง 12 เมตร ยาว 120 เมตร เพื่อรองรับการสัญจรทางน้ำ เรือขนส่งขนาด 500 ตัน มีประตูระบายตะกอนหนัก ตะกอนเบา ซึ่งเป็นอาหารปลาและปุ๋ยในการเพาะปลูก และมีทางปลาผ่านเพื่อรักษาพันธุ์ปลา กว้าง 10 เมตร ติดกับเขื่อนด้านซ้าย ไม่กระทบกับการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง
โครงสร้างเขื่อนแห่งนี้ มีการยกน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ให้ต่างกัน 30 เมตร โดยบริหารน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับ 275 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
เขื่อนไซยะบุรี จะเริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เพื่อส่งให้ไทย 29 ตุลาคมนี้ ไปจนครบสัญญาสัมปทาน 29 ปี ก่อนส่งมอบให้ลาว ขณะที่หลายฝ่ายยังมองว่า เขื่อนแบบ “น้ำไหลผ่าน” แห่งนี้ ส่งผลกระทบต่อการอพยพของพันธุ์ปลา สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศได้ในหลายระดับ.-สำนักข่าวไทย