ชาวอยุธยาร้องผู้ตรวจฯ สอบ “อธิบดีกรมศิลป์-ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์ฯ”

สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 22 ก.ค.-  ชาวอยุธยา ร้องผู้ตรวจฯ สอบ “อธิบดีกรมศิลป์-ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์ฯ” ปรับปรุงเพนียดคล้องช้างอยุธยาผิดรูปแบบเดิม  ไม่ฟังคนในพื้นที่ พร้อมขอให้ย้ายทั้ง 2 ออกนอกพื้นที่ระหว่างตรวจสอบ ลดความขัดแย้งในพื้นที่         


นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำชาวบ้านในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจแผ่นดิน ผ่านนายปิยะ   ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน   ขอให้ใช้อำนาจตาม มาตรา 230(2) ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและสอบอธิบดีกรมศิลปากร และผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจ ตามกฎหมายของกรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากกรมศิลปากรฝ่าฝืน ก็ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งปลดหรือย้ายบุคคลทั้ง 2 ออกจากตำแหน่ง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตามที่เกิดกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากรกับชาวอยุธยา  เกี่ยวกับการบูรณะเพนียดคล้องช้าง  โดยการตัดหัวเสาตะลุง ด้านปีกกา ทิ้งทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นไปตามรูปแบบทางประวัติศาสตร์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมาย  และใช้งบประมาณในการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต  


“การกระทำดังกล่าว อาจชี้ได้ว่าเป็นการบิดเบือนและทำลายรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชาวอยุธยาไม่อาจที่จะยอมรับได้  เพราะที่ผ่านมามีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง   ผู้รับเหมาได้สร้างตามหลักฐานที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปคือ  เสาตะลุงที่หลงเหลืออยู่เดิมมีหัวมัณท์ หรือหัวบัว   กรมศิลปากรจึงได้ทำการซ่อมแซม ทั้งด้านนอก ด้านใน  และซ่อมต่อเนื่องกันมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้กลับไปเชื่อเพียงแค่รูปถ่ายเพนียดคล้องช้างชั่วคราวของฝรั่ง เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว   โดยไม่ดูบริบททางประวัติศาสตร์และความเชื่อที่แท้จริง” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า  นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการนำไม้เสาตะลุงเดิมมาปะผุแซมกับไม้ใหม่อย่างผิดสังเกต  ทั้งๆ ที่มีการใช้งบประมาณสูงถึง 35.8 ล้านบาท แม้เรื่องดังกล่าวชาวอยุธยาจะได้แสดงออก โดยการร่วมลงชื่อกันนับหมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอให้ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และอธิบดีกรมศิลปากร  ได้ทบทวนการบูรณะให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ที่แท้จริงแล้วก็ตาม แต่ก็หาได้รับการทบทวนหรือใส่ใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่


นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2550 มีโครงการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ที่ตำบลสวนพริก  มีการจัดทำเสาตะลุง พร้อมการเหลาหัวเสาเป็นหัวมัณท์หรือหัวดอกบัว และเปลี่ยนเสาตะลุงใหม่ทั้งหมด รวม 980 ต้น ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท  แต่ในการปรับปรุงบูรณะครั้งล่าสุดนี้ พบว่าเสาตะลุงเหลืองเพียง 846 ต้นเท่านั้น แต่กลับใช้งบประมาณถึง 35.8 ล้านบาท  ทั้งเสาตะลุงแต่ละต้น จะต้องมีการวางหมุดเหล็กชนิดหนา ความยาวประมาณ 1 ฟุตมาตอกยึดฐานทั้งสี่ด้านของเสากับพื้นปูนที่เป็นฐาน เพื่อไม่ให้เสาเอียง แต่ปรากฏว่าในการบูรณะครั้งนี้ มีการใช้หมุดเหล็กชนิดบางและสั้น 30 เซนติเมตร ทำให้เสาตะลุงแต่ละต้นขาดความมั่นคง เสี่ยงและเป็นอันตรามาก หากพื้นดินอ่อนตัว  

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการบูรณะนี้ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2546 ประกอบมาตรา 3/1 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545   อีกทั้ง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยชัดแจ้ง เป็นการใช้อำนาจไปโดยมิชอบด้วนกฎหมาย

ด้าน นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย  เลขานุการมูลนิธิพระคชบาล  กล่าวว่า อธิบดีกรมศิลปากรยืนยันว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อใครมีหลักฐาน หรือรูปภาพที่เก่ากว่าที่กรมศิลป์มี หลังจากที่ประชาชนได้ร้องเรียนทักท้วงไปกว่า 2 เดือนแล้ว ก็ไม่มีการแก้ไข แต่กลับสั่งระงับการบูรณะ และจ่ายค่างวดงานให้กับผู้รับรับเหมาไปแล้ว 8 งวด  เป็นวงเงินกว่า 24 ล้านบาท   นอกจากนี้ ในการซ่อมแซมเสา ได้นำเสาเก่ามากลึงใหม่ และบางส่วนนำไม้มาปิด  แบบปะผุ และทางสีใหม่ โดยอ้างงว่ามีน้ำยาจากต่างประเทศมาทา เพื่อให้เสามีอายุใช้งานต่ออีกถึง  100  ปี ซึ่งไม่เป็นความจริง 

ส่วน นายกำธร ขันธนิกร  อายุ 59 ปี ซึ่งเป็นหลานของ “ปู่จู” ที่ทำงานอยู่ในกรมช้าง สมัยรัชกาลที่ 5  กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านที่เกิดที่นั่น เห็นว่าเสามีหัวบัวมาโดยตลอด แต่จากการคุยกับทางราชการ ทางราชการได้ส่งรูปเมื่อปี 2434 เป็นภาพจากชาวต่างชาติที่อ้างว่า ถ่ายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4  เมื่อมาเปรียบเทียบดูพบว่าภาพถ่ายไม่น่าจะถ่ายจากในพื้นที่นั้น  การบูรณะที่ผ่านมาหลายครั้ง กรมศิลป์ทุกชุดก็ยึดตามแบบแผนเดิม  ยกเว้นชุดปัจจุบัน  ที่ทำแบบคิดเองทำเอง  กำลังเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนอยุธยา จึงต้องการให้การบูรณะในครั้งนี้เป็นบทเรียนของกรมศิลปากร ในการทำงานที่ปกปิด ตรวจสอบยาก  และไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่ 

“ที่ชาวบ้านลุกขึ้นเรียกร้อง ไม่ได้ต้องการที่จะเอาแพ้เอาชนะ แต่เอาความถูกต้อง อยากกรมศิลป์บูรณะแบบเปิดเผย และทำอย่างถูกต้อง เพราะเพนียดถือว่าเป็นมรดกโลก” นายกำธร กล่าว และว่า ต้องการให้ย้ายอธิบดีกรมศิลปากร และ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ออกไปก่อน เพื่อลดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่    . – สำนักข่าวไทย      

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี