ภูมิภาค 19 ก.ค. – สถานการณ์ภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤติ แม่น้ำชีแห้งขอดสุดในรอบ 10 ปี ชาวนายโสธรได้แต่มองข้าวหอมมะลิยืนต้นตาย หลายครอบครัวยังไม่มีน้ำทำนาปี ส่วนน้ำโขงที่ จ.นครพนม วิกฤติหนัก ลดระดับลงเร็ววันละประมาณ 20-30 ซม.
สถานการณ์ภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤติ ต้นข้าวหอมมะลิของชาวนาใน 9 อำเภอ จ.ยโสธร ทยอยยืนต้นแห้งตาย เพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยงลำต้น เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่บ้านหนองคู ต.หนองคู อ.เมือง จ.ยโสธร ได้แต่มองดูต้นข้าวหอมมะลิเริ่มทยอยยืนต้นแห้งตายขยายเป็นวงกว้าง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงมาเป็นเวลานาน ขณะที่เกษตรกรหลายครอบครัวยังไม่มีน้ำทำนาปี ได้แต่ไถพรวนดินเฝ้ารอความหวังที่ฝนจะตกลงมา ขณะที่แม่น้ำชีแห้งขอดสุดในรอบ 10 ปี พอน้ำลด กองดินโผล่ใต้สะพานขวางทางน้ำ ประปานำรถแบ็กโฮมาขุดลอกดินใต้สะพานท่าขอนยาง เพื่อเร่งเปิดร่องน้ำส่งน้ำดิบเข้าระบบประปา
ผู้จัดการการประปาจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า หากใน 20 วันนี้ ยังไม่มีฝนตกลงมาเติม ระบบประปาอาจเข้าขั้นวิกฤติ เพราะน้ำดิบที่ผันมาสำรองไว้สำหรับผลิตประปาถูกแย่งสูบระหว่างทาง ลดลงอย่างรวดเร็ว ด้านชลประทานจังหวัดมหาสารคามยอมรับน้ำที่ถูกปล่อยมาจากเขื่อนใหญ่เพื่อรักษาระดับน้ำหน้าประตูระบาย มีไม่เพียงพอ เกษตรกรริมสองฝั่งแย่งกันสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรหวังทุเลาปัญหา แต่กลับส่งผลร้ายต่อคนในชุมชนหมู่มาก
จ.นครพนม น้ำโขงยังวิกฤติหนัก ลดระดับลงวันละประมาณ 20-30 เซนติเมตร ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 2.30 เมตร ห่างจากจุดล้นตลิ่ง ประมาณ 10 เมตร คือ ที่ประมาณ 13 เมตร ปีนี้ถือว่า น้ำโขงลดผิดธรรมชาติ จากปกติช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาระดับน้ำโขงจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 เมตร ซึ่งผันผวนมากสุดในรอบหลายสิบปี นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสะสมในพื้นที่ต่ำ 2-3 เท่าตัวจากปีที่ผ่านมา มีปริมาณเพียงแค่ 90 มิลลิเมตร จากปีที่แล้วสูงกว่า 300 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี อีกทั้งยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงยาว
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติติดตามมาตรการและการดำเนินการช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่มีแนวโน้มหรือกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นการเร่งด่วน พร้อมวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ส่วนพื้นที่ที่เพาะปลูกแล้ว จะต้องจัดสรรน้ำหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ พร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่ต้องการ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจัยระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งที่ประเทศจีน สปป ลาว และฝั่งไทย 2.เขื่อนจิ่งหง ของจีน ปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรน้ำสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา แจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ในช่วงวันที่ 9-18 ก.ค. 2562 เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ ซึ่ง สทนช.ได้ทำหนังสือแจ้งล้วงหน้าไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ได้แก่ เชียงราย เลย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2562
ปัจจุบันระดับน้ำโขงที่มาจากเขื่อนจิ่นหง ณ สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ที่ 2.1.เมตร จากระดับน้ำก่อนจีนปรับลดการระบายอยู่ที่ 2.69 เมตร ประกอบกับปัจจัยที่ 3 คือ การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี ของ สปป ลาว ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ เริ่มทำการทดสอบระหว่างวันที่ 15-29 ก.ค. ทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 9-17 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางเขื่อนได้กักเก็บน้ำบางส่วนเพื่อทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ 17 ก.ค. จึงทำการทดสอบเครื่องปั่นไฟ ส่งให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมามีระดับสูงขึ้น 40-50 ซม.
“จาก 3 ปัจจัยข้างต้น ส่งผลทำให้ระดับน้ำโขงลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำลดลงจากก่อนทดสอบกว่า 1 เมตร ดังนั้น สทนช. จึงได้เร่งประสานอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ สปป ลาว และทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว เพื่อให้ สปป ลาว พิจารณาชะลอการทดสอบระบบดังกล่าวออกไปประมาณ 2-3 วัน เพื่อรอให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหงไหลลงมาถึงก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. คาดว่าสถานการณ์ของระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ” . – สำนักข่าวไทย