สำนักข่าวไทย18 ก.ค.-รองปลัด ยธ.เผย ยธ.พร้อมประสานกรมบังคับคดีขายที่ดินของครอบครัว ‘แพรวา’ หลังมารดาประกาศขายผ่านรายการทีวีเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อตามคำสั่งศาล เนื่องจากการให้กองทุนยุติธรรมจ่ายเงินเพื่อเยียวยาเหยื่อแทนจำเลยไปก่อนไม่มีในระเบียบ
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือกรณีญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายในคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลเวย์เมื่อ 9 ปีก่อน หรือ ‘คดีแพรวา’ ออกมาเปิดเผยว่ายังไม่ได้รับ เงินเยียวยาตามคำพิพากษาศาล ว่า คดีนี้มีการฟ้องร้องในชั้นศาลจบกระบวนการแล้ว โดยคดีแพ่งที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้ชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บประมาณ 26 ล้าน 8 แสนบาท ซึ่งศาลได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามกฎหมายแล้วจำเลยต้องชดใช้เงินภายใน 30 วัน แต่หากเลยเวลาแล้วไม่ชดใช้เงินให้ ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องขอให้ศาลขอหมายบังคับคดี เพื่อจะได้มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์ จากนั้นจึงนำเรื่องดังกล่าวไปยื่นต่อกรมบังคับคดี เพื่ออายัดทรัพย์สินต่างๆ ที่พบ เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ หรือนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด
โดยกระบวนการสืบทรัพย์ จะถือเป็นกระบวนการแรกหลังจากที่เริ่มมีการออกหมายบังคับคดี และเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด ลำพังประชาชนเองไม่สามารถทำได้ วิธีการที่ดีที่สุดคือ ต้องว่าจ้างทนายความ ซึ่งทนายความจะมีประสบการณ์รวมทั้งจะมีฝ่ายตรวจสอบบัญชี สามารถทำหนังสือส่งไปยังสถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบบัญชีของทางจำเลยได้ทั้งหมด รวมถึงทำหนังสือไปยังกรมที่ดินตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบเครดิตบูโร หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะสามารถนำมาเป็นสินทรัพย์ขายทอดตลาดได้
ส่วนการสือบทรัพย์จะต้องใช้เวลานานหรือไม่ คงบอกไม่ได้นานเท่าไหร่ ใช้เวลานานไหม ขึ่นอยู่กับว่าทนายความมีประสบการณ์มากน้อยขนาดไหน
อย่างไรก็ตามเท่าที่ติดตามข่าวพบว่ามีทีมทนายความของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอยขอดูแลให้ตั้งแต่ต้นจนจบทั้งคดีอาญาและแพ่ง จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่ถ้าหากอยากได้ทนาย หรือความช่วยใดเพิ่มเติม สามารถมาแจ้งขอความช่วยเหลือที่กองทุนยุติธรรม ที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตอนนี้ตั้งคณะทำงาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอแล้วไว้แล้ว
“พูดง่ายๆคือ แพ่งเป็นเอกชนสู้กับเอกชน แต่ถ้าเป็นคนจน อาจจะต่อสู้ได้ไม่เต็มหมัด กองทุนยุติธรรมพร้อมช่วย ตัวจะได้เท่ากันเพราะคนจนอาจจะตัวเล็ก เพื่อจะได้เปิดหน้าชกกันอย่างเต็มที่” รองปลัด ยธ. กล่าว
ส่วนกรณีนี้หลายคนระบุว่าเป็นความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมหรือ ไม่ นายธวัชชัย กล่าวว่า ยังไม่อยากให้มองไปถึงจุดนั้น เพราะคดีแพ่งหลังมีคำตัดสินยังไม่ถือว่าสิ้นสุด ยังมีขั้นตอนการยึดอายัดทรัพย์ ขายทอด ตลาดที่หน่วยงานรัฐจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ซึ่งต่างจากคดีอาญาที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่ม เรื่องนี้ศาลเพิ่งมีคำตัดสินไปเมื่อเดือน พ.ค. ตอนนี้เพิ่ง 2 เดือน ลักษณะแบบนี้เป็นกับทุกคดีไม่เฉพาะเรื่องนี้ ซึ่งกระบวนการเพิ่งเริ่มต้น อยากให้สังคมเข้าใจขั้นตอนของกฎหมายด้วย
“เพิ่งเข้าสู่กระบวนการปกติ ที่เป็นได้ในทุกคดี สังคมนับเวลา 9 ปี คือ นับ ตั้งแต่เกิดเหตุ จนถึงคำพิพากษา ที่เพิ่งสิ้นสุดออกมาเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพียงแต่ความรู้สึกของคนที่รอ ของผู้ที่สูญเสีย กับผู้ต้องจ่ายทรัพย์ไม่เท่ากัน เวลาสองฝ่ายเท่ากันแต่อารมณ์ระหว่างผู้รับ และผู้จ่ายต่างกัน ส่วนตัวคิดว่าจำนวนเงินอาจจะเยอะ เขาคงมึนงงกับชีวิตอยู่ ถ้าหากอยากได้ที่ปรึกษาสามารถมาขอคำปรึกษาหาทางออกที่ กระทรวงยุติธรรมได้” นายธวัชชัย กล่าว
ล่าสุด รองปลัด ยธ.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีที่มารดาของ น.ส.แพรวา ออกมาระบุว่า ครอบครัวมีทรัพย์สินพร้อมเยียวยาให้ผู้เสียหาย พร้อมขอโทษที่ไม่มีเงินสดชดใช้จึงฝากขายที่ดินจำนวน 21แปลง จำนวน 30โฉนด ในพื้นที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์และโฉนดที่ดินย่านเมืองทองธานี พร้อมเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นำเงินกองทุนยุติธรรม เยียวยาผู้เสียหายไปก่อนและจะคืนให้ภายหลัง ด้วยการนำโฉนดที่ดินมาประกาศขายผ่านรายการทางทีวี ว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายไม่มีระเบียบให้กองทุนยุติธรรมจ่ายเงินเพื่อเยียวยาเหยื่อแทนจำเลยไปก่อน แม้ว่าทางจำเลยพร้อมจะนำเงินมาคืนให้ในภายหลัง แต่หากมีความประสงค์จะนำเงินมาชดเชยญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ราย ทางกระทรวงฯ จะประสานกรมบังคับคดีให้ช่วยประกาศขายที่ดินให้ เพื่อนำเงินมาชดเชยให้กับครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง9ราย
‘เท่าที่ปรึกษากับทีมกฏหมาย เบื้องต้นยังไม่มีช่องทางในการช่วยเหลือในประเด็นนี้ แต่การที่มารดาออกมาเปิดหน้าต่างบานนี้ออกมา ทำให้เป็นสัญญาณที่ดี และจะได้นำประเด็นนี้ไปพิจารณาได้ในอนาคต อีกทั้งจะทำให้ทางด้านผู้เสียหายเกิดความสบายใจ มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากเพียงพอในการชดใช้เยียวยา แต่ยังขายไม่ได้ก็ขอแนะนำให้เข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีไปเลยจะดีกว่า ให้สินทรัพย์ตรงนี้เป็นภาครัฐดำเนินการขายให้ ขายทอดตลาด หรือให้กระทรวงยุติธรรมเป็นคนกลางในการเปิดโต๊ะ เวทีเจรจา ระหว่างผู้กระทำผิดและผู้เสียหายจะได้เกิดความสบายใจของสองฝ่าย’ รองปลัด ยธ.กล่าว .-สำนักข่าวไทย