กรุงเทพฯ 9 ส.ค.- คดีแพรวาขับรถชนรถตู้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่มีการต่อสู้ยาวนาน 9 ปี กระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ชดใช้เยียวยาผู้เสียหายทั้ง 27 ราย เงินเยียวยาที่ฝั่งจำเลยนำมาวางศาล มีการโอนเข้าบัญชีผู้เสียหายครบถ้วน และสามารถเบิกใช้ได้แล้วในวันนี้ ด้านกระทรวงยุติธรรม ระบุคดีที่มีการต่อสู้ถึง 3 ศาล ใช้ระยะเวลาและมีรายละเอียดต้องพิจารณา ไม่อยากให้มองว่าเป็นความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม
คดี “แพรวา” ขับรถชนรถตู้โดยสาร จนมีผู้เสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บ 4 คน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 53 และมีการต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา และมีคำพิพากษาเมื่อต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจำเลยคือ แพรวาและครอบครัว ต้องชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย 42 ล้านบาท ภายใน 28 สิงหาคมนี้ ซึ่งฝั่งจำเลยรวบรวบเงินได้ครบตามจำนวนก่อนครบกำหนดเวลา และนำมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย 27 ราย โดยฝั่งทนายโจทก์ตรวจสอบความถูกต้อง และอธิบดีศาลแพ่งเซ็นอนุมัติเงินเยียวยาเข้าบัญชีผู้เสียหายเมื่อวานนี้ และวันนี้เงินเข้าบัญชีแล้ว
นายเดชา กิตติวิทยานนท์ ซึ่งรับเป็นทนายความให้ฝั่งจำเลย คือ แพรวาและครอบครัว หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย มองว่าหากปล่อยให้พ้นกำหนด 28 สิงหาคมนี้ จะต้องเข้าสู่การบังคับคดี ซึ่งต้องมีการสืบทรัพย์ โดยฝ่ายโจทก์คือผู้เสียหาย ต้องมีค่าใช้จ่าย และน่าจะใช้เวลาอีกนานหลายปี ขณะที่ฝั่งจำเลย หากนำทรัพย์มาขายทอดตลาดเพื่อเยียวยา ก็ต้องใช้เวลานานเช่นกัน และยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้เงินมาชดใช้เยียวยาได้ครบเมื่อใด จึงคิดหาทางออกร่วมกับฝั่งจำเลย แต่วิธีประกาศขายที่ดินของมารดา น.ส.แพรวา ที่ประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีผู้สนใจซื้อ จึงเลือกวิธีหยิบยืมเงินญาติจนครบตามจำนวน และรีบนำมาวางศาล เหตุผลสำคัญที่รับเป็นทนายความ คือ อยากให้ครอบครัวผู้สูญเสียได้รับการเยียวยาโดยเร็ว
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า คดีที่มีการต่อสู้กันยาวนานถึง 3 ศาล มักใช้ระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะคดีแพรวาที่มีผู้เสียหายถึง 27 ราย และมีการรวมสำนวนถึง 15 สำนวน ซึ่งหลังมีคำพิพากษาศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรมเป็นตัวกลางในการติดตามความคืบหน้าการส่งคำบังคับคดีไปยังจำเลยทั้งสี่ เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้มีการชดใช้เยียวยาผู้เสียหายได้ทันเวลา ไม่ใช่ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมยังมีคำแนะนำสำหรับคดีความในลักษณะนี้ หากมีประเด็นข้อพิพาทและต้องการต่อสู้คดี เนื่องจากส่วนใหญ่คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมองว่าตัวเองต้องชนะ สามารถมาติดต่อหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะมีผู้ให้คำปรึกษาและเสนอทางเลือกดีที่สุด หากเห็นว่าไม่มีทางชนะ ก็จะไม่แนะนำให้ยื้อเวลาต่อสู้กันถึง 3 ศาล.-สำนักข่าวไทย