ผู้ตรวจการแผ่นดิน 18 ก.ค.-“ศรีสุวรรณ” นำเอกชนร้องผู้ตรวจฯ หลังศุลกากรอายัดสินค้าไก่แช่แข็ง แต่ถูกกรมปศุสัตว์ส่งความเห็นกฤษฎีกาสวนนโยบายรัฐบาล ทั้งที่ทำธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางส่งสินค้าข้ามพรมแดน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. วันนี้ (18 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ลิน โฟรเซ่น ฟู๊ด จำกัด ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีกรมศุลกากรละเมิดกฎหมายเขตปลอดอากร ไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และกฎหมายส่งเสริมการค้าในพื้นที่ปลอดอากร จนทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายใช้เขตปลอดอากรเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค CLMV (กัมพูชา, ลาว,เมียนมาและเวียดนาม) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการค้าขาย โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 152 ระบุให้ผู้ประกอบการที่สั่งนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์จากต่างประเทศมาพักไว้ที่คลังสินค้าปลอดอากรเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาเอกชนจึงได้สั่งนำเข้าชิ้นส่วนไก่มาพักในเขตปลอดอากรเพื่อส่งต่อไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จากนั้นกรมปศุสัตว์ได้ทำหนังสือไปสอบถามกฤษฎีกาว่ากรณีนำเข้าดังกล่าวต้องขออนุญาตและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ด้วยหรือไม่ โดยกฤษฎีกาตอบกลับมาว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต้องได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เป็นผลให้กรมศุลกากรสั่งอายัดสินค้าของเอกชน จนทำให้เกิดความเสียหาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่านโยบายของรัฐบาล พ.ร.บ.ศุลกากร และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เป็นข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกันอยู่ จึงยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเพื่อทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล หากการนำเข้าเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากรให้สอดคล้องกัน
ด้านนายบริบูรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกอาหารแปรรูปแช่แข็ง เดิมทำธุรกิจแบบนำผ่านไปยังประเทศที่ 3 แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ E-Commerce และออก พ.ร.บ.ศุลากร ฉบับใหม่ ตนจึงเปลี่ยนรูปแบบการค้ามาเป็นนำเข้าเพื่อส่งออก เพราะสามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมนำเข้าและค่าสินค้าผ่านแดน ซึ่งบริษัทได้ทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวมานาน 1 ปี จนกระทั่งกรมปศุสัตว์นำความเห็นของกฤษฎีกา มายื่นต่อกรมศุลกากรเพื่ออายัดสินค้าของตน ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหายและยังมีข้อข้องใจว่าทำตามนโยบายนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง แต่สินค้ากลับถูกอายัด และต้องการให้รัฐบาลตรวจสอบว่านโยบายที่ออกนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ มีหน่วยงานใดงุบงิบทำหนังสือถึงกฤษฎีกาเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลหรือไม่ เพราะเท่าที่ตรวจสอบมีเพียงผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้นที่ต้องขอใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ส่วนสินค้าประเภทพืช ผัก และยารักษาโรค ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาต.-สำนักข่าวไทย