กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – ที่มาที่ไปของคดี “แพรวา 9 ศพ” เป็นอย่างไร สำนักข่าวไทยจะย้อนข้อมูลให้รับทราบทั้งหมด
โศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 หลังจากที่ น.ส.แพรวา ซึ่้งขณะนั้นอายุ 16 ปี 6 เดือน ได้ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค สีขาว ชนเข้ากับรถตู้โดยสาร สายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้รถตู้เสียหลัก ก่อนพุ่งชนเสาไฟฟ้าและขอบทาง จนทำให้ประตูรถตู้เปิดออก และผู้โดยสารที่อยู่ในรถถูกเหวี่ยงออกไป โดยมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ศพ มีทั้งนักวิทยาศาสตร์ประจำ สวทช. คนขับรถตู้โดยสาร และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับคดีอาญา ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ว่า จำเลยขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหาย แต่คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยให้รอลงอาญา 3 ปี รวมถึงให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคม และห้ามจำเลยขับรถยนต์ จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่
จากนั้นวันที่ 22 เมษายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้แก้ระยะเวลารอลงอาญา 4 ปี และให้คุมประพฤติ 3 ปี ส่วนโทษอื่นให้คงตามศาลชั้นต้น จนท้ายสุดจำเลยได้ยื่นต่อสู้ในชั้นฎีกา แต่ทว่าศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อปี 2558 ไม่รับฎีกาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถือเป็นที่สุด
สำหรับคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ให้จำเลยทั้ง 4 คน ประกอบด้วย น.ส.แพรวา บิดา มารดา และเจ้าของรถที่ น.ส.แพรวา นำมาขับ ชดใช้เงินให้ผู้เสียชีวิต รวม 26.8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ (คำร้องโจทก์ให้พิจารณาชดใช้ทางแพ่ง 113 ล้านบาท โดยโจทก์ร่วม 28 คน)
ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 สั่งลดเงินชดเชยค่าเสียหายให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เหลือประมาณ 19 ล้านบาท โดยเหตุผลคือ คนขับรถตู้ใช้ความเร็วสูง และมีส่วนกระทำผิด แม้ไม่ได้ก่อผลโดยตรง
กระทั่งการต่อสู้คดีแพ่งมาจนถึงชั้นศาลฎีกา ปรากฏว่า ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 โดยพิพากษาแก้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายกลุ่มโจทก์ 24.7 ล้านบาท เนื่องจากมองว่า ค่าขาดไร้อุปการะจำเลยที่ 1-3 ต้องร่วมชดใช้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละรายเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว
จนถึงขณะนี้การเยียวยาโดยจำเลยยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะขั้นตอนหลังคดีสิ้นสุด ศาลจะไปปิดหมายให้รับทราบคำพิพากษา จากนั้น 30 วัน จะต้องนำเงินค่าเสียหายมาชำระ หรือมาวางต่อกับศาล โดยนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 มาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าจากฝ่ายจำเลย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ “tintin” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว บอกว่า ผู้ก่อเหตุและครอบครัวไม่ได้สนใจคดีใดๆ เลย มาศาลแค่เพียงครั้งแรกที่เป็นภาพออกสื่อ จากนั้นไม่เคยมาอีก และส่งทนายความมาแทนทุกครั้ง โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา นับว่าโชคดีที่รอดชีวิต แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไหปลาร้าหัก 3 ท่อน เข่าซ้ายแตก แขนขวาหัก ต้องนอนรักษาตัวบนเตียงขยับไปไหนไม่ได้นานถึง 2 เดือน และต้องฝึกเดินใหม่อีก 2 ปี แม้รู้ว่าเป็นเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดและไม่ได้ตั้งใจ แต่ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุกับครอบครัวไม่ได้สนใจคดีใดๆ. – สำนักข่าวไทย