สมุทรสาคร 13 ก.ค.- ผู้ทรงคุณวุฒิเปิดเสวนาชาวชุมชนท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร ย้อนประวัติศาสตร์ 112 ปี รถไฟบ้านแหลม–แม่กลอง สายที่ 6 ของไทย เป็นสายเดียวไม่เชื่อมต่อ แต่ในความโดดเดี่ยวมีสิ่งน่าทึ่งและโดดเด่น เตรียมบูมแหล่งท่องเที่ยวสถานีรถไฟบ้านแหลม เหมือนสถานีแม่กลองมีตลาดร่มหุบ
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่สถานีรถไฟบ้านแหลม ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายอัครวัฒน์ กมลมงคล นายสถานีรถไฟ พร้อมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อ.รักเกียรติ เลิศอุตสาหกูล ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑ์เจษฎาเทคนิค มิวเซียม และ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานกรรมบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง วิสาหกิจเพื่อสังคม (จำกัด) ร่วมเสวนา “รถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง” ของการจัดงาน 12 กรกฎาคม 2450 เริ่มเดินรถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี ของรถไฟสายที่ 6 แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากส่วนราชการและชาวตำบลท่าฉลอมให้ความสนใจเข้ารับฟังความเป็นมาของเส้นทางรถไฟสายนี้
ดร.สุวันชัย กล่าวว่า ตำบลท่าฉลอมมีสถานีรถไฟที่สำคัญ คือ สถานีบ้านแหลม แต่หลายคนไม่รู้จัก รู้จักเพียงสถานีแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เพราะมีตลาดร่มหุบชื่อดัง ดังนั้น จึงได้จัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้รู้จักสถานีรถไฟแห่งนี้กันมากขึ้น และจะได้ช่วยกันบูรณะให้สวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของท่าฉลอม ซึ่งรถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลอง เป็นรถไฟสายที่ 6 ของไทย เริ่มเดินรถเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2450 สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 112 ปี ต้นทางสถานีบ้านแหลม จ.สมุทรสาคร ปลายทางสถานีแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 33.75 กิโลเมตร โดยบริษัทรถไฟแม่กลองทุน จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานการเดินรถไฟ ขณะนั้นบริษัทสัมปทานรถไฟสายมหาชัย ต้นทางสถานีคลองสาน กทม. ปลายทาง ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ได้เข้ารวมกิจการกับบริษัทรถไฟแม่กลองทุน กระทั่งสิ้นสุดสัมปทานปี 2488 บริษัทรถไฟแม่กลองทุน จึงขายกิจการให้กับกรมรถไฟ
ทั้งนี้ รถไฟสองสายย่อยดังกล่าวรวมเรียกว่า “รถไฟสายแม่กลอง” ซึ่งเป็นรถไฟสายเดียวของไทยที่โดดเดี่ยวไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายใด แต่โดดเด่นและแตกต่างกว่ารถไฟสายอื่น ๆ คือ ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนเพื่อต่อระหว่างสถานีมหาชัยและสถานีบ้านแหลม จากนั้นปี 2504 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกสถานีคลองสาน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งบนถนนเจริญรัถเลียบทางรถไฟ และเปลี่ยนไปเริ่มต้นสายที่วงเวียนใหญ่ ระยะทางจึงลดลงเหลือ 31.22 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี รถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง นอกจากจะใช้ประโยชน์ด้านการคมนาคมแล้ว ยังมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็นรถไฟที่เดินทางไปสู่ “ตลาดร่มหุบ” เพราะตลอดระยะทางจากบ้านแหลมถึงแม่กลองยังได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวนาเกลือ และป่าชายเลน ซึ่งเป็นภาพแห่งความสวยงามและความประทับใจที่น่าจดจำ
“เรียกว่ารถไฟสายนี้แม่จะโดดเดี่ยว เพราะไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่น แต่ก็โดดเด่นด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านตลอดการเดินทางและความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดร่มหุบ”.-สำนักข่าวไทย