กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – กกร.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโตร้อยละ 2.9-3.3 จากเดิมร้อยละ 3.7-4 หลังมองส่งออกไม่ขยายตัว เหตุสงครามการค้าและเงินบาทแข็งค่า เตรียมหารือแบงก์ชาติสัปดาห์หน้า และจัดทำสมุดปกขาวเสนอรัฐบาลใหม่
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กกร.ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ 5 เดือนแรกของปี 2562 โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณอ่อนแรง สะท้อนจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยก็ขยายตัวในระดับต่ำ มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว จากแรงหนุนมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ
นอกจากนี้ กกร.ยังได้มองต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความท้าทายและขาดปัจจัยหนุน แม้ว่าการส่งออกอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้างจากปัจจัยฐานและความเป็นไปได้น้อยลงที่สหรัฐจะเก็บภาษีลอตสุดท้ายจากจีน หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาสู่เส้นทางการเจรจากันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากความซบเซาของการค้าโลก รวมทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าอีก หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย ทำให้แนวโน้มการส่งออกปี 2562 อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร.จึงปรับกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกปี 2562 ลงมาที่ติดลบร้อยละ 1.0 – 1.0 จากเดิมร้อยละ 3.0-5.0 และแม้ว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ กกร.มองว่าอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลจากการส่งออกที่ลดลงท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น กกร.จึงปรับกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาที่ร้อยละ 2.9-3.3 จากเดิมร้อยละ 3.7-4.0 อัตราเงินเฟ้อปี 2562 ยังคงไว้ที่กรอบเดิม คือ ร้อยละ 0.8-1.2
ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังมีความกังวลปัจจัยภายนอก ได้แก่ สงครามการค้าสหรัฐกับจีน แม้ช่วงนี้จะผ่อนคลายลงไปบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะยุติปัญหาเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ได้จริงแค่ไหน ประกอบกับการแข็งค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วและแรง ทำให้ความสามารถการแข่งขันของไทยน้อยลงส่งผลให้การส่งออกไทยไม่ดี โดยขณะนี้ กกร.อยู่ระหว่างนัดหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นเงินบาทไม่เกิน 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าน่าจะได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท.สัปดาห์หน้าหรือก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
นอกจากนี้ เท่าที่ได้ติดตามแม้ในช่วงครึ่งปีหลังรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้แล้ว แต่ด้วยปัจจัยผลกระทบหลายด้าน จึงคิดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเข้ามาอัดฉีดในระบบอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ทาง กกร.จะเร่งสรุปแนวทางการตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของภาคเอกชน เพื่อจัดทำเป็นสมุดปกขาว เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่หลังเข้ามาบริหารประเทศได้เต็มที่ ซึ่งเบื้องต้น กกร.ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ประกอบด้วย 1.การปรับขึ้นค่าจ้างควรขึ้นตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไตรภาคี 2.การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและการพัฒนาฝีมือแรงงาน 3.การเพิ่มกำลังคนทดแทนเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย