กรุงเทพฯ 8 ก.ค. – กลุ่ม ปตท.เดินหน้าส่งเสริมโลกสีเขียว ล่าสุดร่วมมือจีซี-พีทีทีโออาร์ เปิดปั๊มต้นแบบรักษ์โลก Circular Living Concept ส่วนโครงการPLA พลาสติกชีวภาพของเนอเจอร์เวิร์กส คาดรู้ผลจะลงทุนในไทยหรือไม่ ไตรมาส 3/62
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีที โออาร์ และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ร่วมแถลงข่าว ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ เปิดร้าน “คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์” (Café Amazon Circular Living Concept) สาขาพีทีที สเตชั่น สามย่าน ตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ทันสมัยตกแต่งร้าน โดยใช้วัตถุดิบทั้งพลาสติกรีไซเคิล ,พลาสติกชีวภาพ เป็นสัดส่วนของร้านถึงประมาณร้อยละ 70 และในอนาคตจะมีการขยายในสาขาของพีทีทีโออาร์อย่างต่อเนื่อง
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า จากประชากรโลกที่มีถึง 7,000 ล้านคนและในอนาคตจะเพิ่มขึ้น ปัญหาขยะเป็นปัญหาของโลก ทางกลุ่ม ปตท.จึงตั้งเป้าหมายการลดภาวะโลกร้อนใช้ทุกรูปแบบผสมผสานกันไป ทั้งรณรงค์แยกขยะในปั๊มน้ำมัน, โครงการรณรงค์การพัฒนาขยะกลับมาใช้ใหม่, การส่งเสริมการผลิตและการใช้พลาสติกชีวภาพ โดยจีซี ลงทุนทั้งโรงงานประเภทพีบีเอสในไทยและพีแอลเอในสหรัฐอเมริกา, ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าก็จะมีการพัฒนาทั้งระบบไฟฟ้าจากฟอสซิลและพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังดำเนินการรูปแบบอื่น เช่น ส่งเสริมโครงการปลูกป่า ดังนั้น ทางกลุ่ม ปตท.จึงได้แยกบัญชีการเงินเกี่ยวกับการดำเนินการด้านโครงการเช่นนี้ หรือบัญชีสีเขียวให้มีความชัดเจน และจะสามารถตอบคำถามสังคมได้ว่าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร โดยเป้าหมายหลัก คือ ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่รัฐบาลประกาศแผนงานไว้ และยังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการรณรงค์จัดการขยะ เช่น ร่วมกับวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ นำขวดพลาสติกมาผลิตเป็นจีวร เป็นต้น
สำหรับร้านคาเฟ่อเมซอน สาขาพีทีที สเตชั่น สามย่าน แห่งนี้ สถาบันนวัตกรรม ปตท.ได้นำเยื่อกาแฟ (Coffee Chaff) ซึ่งเป็นของเหลือหลักจากโรงคั่วกาแฟนำมาบดและอบเพื่อไล่ความชื้น และขึ้นรูปเป็นวัสดุคอมโพสิตร่วมกับน้ำยาอีพอกซีเรซิน (Bio-Based Epoxy) เพื่อใช้เป็นวัสดุตั้งต้นในการทำโต๊ะ ตู้ เคาน์เตอร์ ชั้นวางของ และเฟอร์นิเจอร์ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ น้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้มาก ผิวมันวาว คงทนต่อสารเคมีได้ดี เป็นการนำเยื่อกาแฟมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ ได้เข้าร่วมงานรับรางวัลยอดเยี่ยมแห่งเอเชียประจำปี 2562 (The 9th Asian Excellence Award) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดโดยนิตยสาร Corporate Governance Asia เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้นำและองค์กรที่สร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุ่งมั่นยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยปีนี้ ปตท.ได้รับ 4 รางวัล ได้แก่ รางวัล “ซีอีโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย” หรือ Asia’s Best CEO (Investor Relations) รางวัล “ซีเอฟโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย” หรือ Asia’s Best CFO (Investor Relations) รางวัลความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Environmental Responsibility) และรางวัลบริษัทนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Company (Thailand))
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระแสรักษ์โลกทำให้ความต้องการพลาสติกชีวภาพชนิด PLA พุ่งสูงขึ้น และไตรมาส 3 ปีนี้ เนเจอร์เวิร์กส์ บริษัทที่จีซีร่วมทุนร้อยละ 50 จะตัดสินใจว่าจะลงทุนใน PLA โรงงานที่ 2 ในไทยหรือไม่ โดยขณะนี้ 2 ประเทศเป็นตัวเลือก หากลงทุนในไทยจะลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นการถือหุ้นฝ่ายละครึ่งระหว่างเนอเจอร์เวิร์กส์และจีซี โดยปัจจุบันนี้โรงงานของเนเจอร์เวิร์กส์ ผลิตแห่งแรกในสหรัฐกำลังผลิต 140,000 ตัน/ปี โดยจะต้องลงทุนทั้งโรงงาน Lactic Acid และPLA
สำหรับโครงการที่ร่วมกับพีทีทีโออาร์นั้น ทางจีซี ร่วมผลิตวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้าน ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้านคาเฟ่อเมซอน โรงคั่วกาแฟ และขยะพลาสติกที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นของตกแต่ง ภายใต้แนวความคิด “เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง” ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้คุณค่าตามหลักการบริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs ภายในองค์กร (Reduce การลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก (BioPlastic) ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติพลาสติก
นางสาวจิราพร กล่าวว่า คาเฟ่ อเมซอน เป็นผู้นำทางการตลาดของธุรกิจกาแฟที่มีจำนวนสาขาและยอดขายสูงที่สุด โดยมีถึง 2,600 สาขา มีการใช้แก้วร้อนถึง 1.5 ล้านแก้ว/เดือน แก้วเย็น 800,000 แก้ว/เดือน ใช้หลอดถึง 270 ล้านหลอด จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะภายในร้านและการลดปริมาณการใช้อุปกรณ์พลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด โดยปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในร้านให้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ อาทิ แก้วร้อน (Bio PBS) ที่เป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายสู่ธรรมชาติได้ 100% แก้วเย็น (Bio PLA) ที่ทำจากพืช 100% หลอด (Bio PBS + PLA) รวมถึงการใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกใส่เบเกอรี่ ซึ่งจากการดำเนินงานโดยรวมทั้งหมดสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกของร้านได้ถึง 645 ตัน/ปี นอกจากนี้ พีทีที โออาร์ เล็งเห็นว่าวัสดุใช้แล้วภายในร้านจำนวนมากสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ได้อีก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจนเกิดเป็น คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์ สาขาต้นแบบ.-สำนักข่าวไทย