รร.วี 8 ก.ค. – ธนาคารโลกปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเหลือร้อยละ 3.5 ส่งออกโตร้อยละ 2.2 จากพิษสงครามการค้า ระบุเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเป็นรัฐบาลผสมจาก 19 พรรคการเมือง
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดวันนี้ (8 ก.ค.) ว่า ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลง จากเดิมร้อยละ 3.8-3.9 เหลือโตร้อยละ 3.5 และลดคาดการณ์ปี 2563 จากเดิมคาดว่าจะโตร้อยละ 3.9 ลดลงเหลือร้อยละ 3.6 เนื่องจากเศรฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ชะลอตัวลง มีอัตราขยายตัวร้อยละ 2.8 เป็นอัตราการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นมา
ด้านการส่งออกตลอดปีนี้ผลกระทบจากการส่งออกไปจีนและยุโรปที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า ธนาคารโลกจึงคาดว่าการส่งออกปีนี้จะโตในระดับร้อยละ 2.2 จากเดิมคาดว่าจะโตกว่าร้อยละ 5 ส่วนปีหน้าการส่งออกคาดว่าจะโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.6 ด้านเงินเฟ้อคาดว่าปีนี้เงินเฟ้อจะโตร้อยละ 1.1 และเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 ในปี 2563
การลงทุนภาครัฐที่ลดลงเป็นปัจจัยลบ ขณะที่มีปัจจัยจากภายนอกประเทศกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงเดินหน้าไปได้ด้วยดี ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงเข้มแข็งช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารโลกเห็นว่าความต่อเนื่องทางนโยบายและการนำแผนการลงทุนภาครัฐมาดำเนินการจะมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ด้านจุดยืนของรัฐบาลด้านการคลังและนโยบายการเงินคาดว่าจะยังคงเดิม และพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยยังคงเข้มแข็ง
ความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสมที่เกิดจาก 19 พรรคการเมือง มีผลด้านลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมถึงอาจมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง และไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐตามที่ได้วางแผนไว้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน การเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคให้ความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นและการใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าและการบริการ
นายเกียรติพงศ์ เปิดเผยผลศึกษาด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทค ว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างก้าวกระโดด ผู้ใหญ่ร้อยละ 82 มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง และช่องว่างระหว่างเพศในการเข้าถึงบริการต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังมีความท้าทายด้านคุณภาพของบริการทางการเงิน โดยให้ดิจิทัลและการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ธนาคารโลกเห็นว่าการขยายบริการดิจิทัลไปยังประชากรกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงบริการจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามที่ได้ยุทธศาสตร์ชาติได้วางแผนไว้ ในส่วนธุรกิจฟินเทคที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เรื่องที่สำคัญ คือ จะต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนระบบนิเวศของฟินเทค.-สำนักข่าวไทย