กรุงเทพฯ 4 ก.ค. – ธนาคารกรุงไทยลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้จากโตร้อยละ 3.8 เหลือร้อยละ 3.3 แต่ปีหน้าจะโตเพิ่มเป็นร้อยละ 3.6 ส่งออกจะโตเหลือเพียงร้อยละ 0.8 จากเดิมคาดจะโตร้อยละ 4 ส่วนปีหน้าคาดส่งออกจะเติบโตร้อยละ 2.5 แนะจับตาการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ ทั้งงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และงบรายจ่ายประจำปี 63
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยปรับประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.3 จากที่ประเมินไว้เดิมร้อยละ 3.8 และปีหน้าคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.6 ส่วนการส่งออกปรับลดประมาณการปีนี้ลงเช่นกัน โดยคาดว่าจะโตเหลือเพียงร้อยละ 0.8 จากเดิมคาดว่าจะโตร้อยละ 4 ส่วนปีหน้าคาดว่าการส่งออกจะเติบโตร้อยละ 2.5 โดยมีความท้าทายเพิ่มเติมจากการที่เวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้น
สำหรับสาเหตุที่ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจลง เนื่องจากความขัดแย้งของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น ทั้งการเพิ่มจำนวนสินค้าที่เรียกเก็บภาษีและการขยายขอบเขตเพื่อชิงความได้ปรียบด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทำให้การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่พึ่งพาจีน ทั้งซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนในประเทศมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น และรายได้เกษตรกรที่ชะลอลงจากภัยแล้งช่วงต้นปี
“แม้สหรัฐและจีนตกลงพักรบชั่วคราว หลังการประชุม G-20 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แต่คาดว่าสหรัฐจะยังเก็บภาษีกับสินค้ามูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์จากจีนในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะกดดันภาคการส่งออกต่อไป สำหรับแรงกระตุ้นจากภาครัฐมีค่อนข้างจำกัด นอกจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแล้ว คาดว่าเม็ดเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะเบิกจ่ายได้เพียง 77,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าแผนฯ แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีถัดไป ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อาจเบิกจ่ายไม่เต็มที่ช่วงต้นปีงบประมาณ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยกลับจูงใจแค่ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่ยูนิตเหลือขายสะสมและเปิดขายใหม่กระจุกตัวราคา 1-5 ล้านบาท จึงอาจต้องเตรียมรับมือกับภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว” นายพชรพจน์ กล่าว
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองตลาดเงินและตลาดทุนว่า ครึ่งปีหลังนโยบายการเงินทั่วโลกจะผ่อนคลายลง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลับลำนโยบายการเงินไปในทิศทางผ่อนคลาย รวมทั้งประกาศจะยุติการลดขนาดงบดุลเดือนกันยายนนี้ และจากการประชุมครั้งล่าสุดเดือนมิถุนายนได้ระบุชัดเจนว่าพร้อมจะดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ สอดคล้องกับประเทศหลักอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และจีนที่ส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.75 ตลอดปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อระดับต่ำ คาดว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าซ้ำเติมธุรกิจส่งออก แม้จะกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน แต่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มผ่าน Macro Prudential มากขึ้น ซึ่งครึ่งปีหลังอาจมีมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ด้วยความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นระยะหลัง ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย