กทม. 3 ก.ค.-ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง ยืนยันปลาทูไทยยังไม่สูญพันธุ์ เพียงแต่มีปริมาณลดลง สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ขณะที่การสำรวจตลาดแปรรูปอาหารทะเล สะพานปลา และแพปลา ในพื้นที่ภาคตะวันออก ยังไม่พบมีการนำปลาทูขนาดเล็กขึ้นมาขาย
นายสรณัฏฐ์ ศิริสวย อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยปลาทูไทยลดลงเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม มลภาวะต่างๆ ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคปลาทูเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการใช้เครื่องมือทำประมงที่มีการทำลายล้างสูง เช่น การใช้อวนตาถี่ ทำให้ลูกปลาติดมาด้วย และการจับปลาในฤดูวางไข่ ยืนยันปลาทูไทยยังไม่สูญพันธุ์แน่นอน เพียงแต่มีปริมาณน้อยลง ทำให้ต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศมากขึ้น เช่น จากอินเดีย อินโดนีเซีย โดยส่วนใหญ่ปลาทูจะพบมากในพื้นที่อ่าวไทย เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และมีสารอาหารครบ พร้อมแนะควรงดจับปลาในฤดูวางไข่ เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบการขายลูกปลาทูแปรรูป บริเวณร้านขายฝาก อาหารทะเลแปรรูป ชุมชนแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไม่พบมีการนำปลาทูขนาดเล็กมาแปรรูปขาย มีแต่ปลาขนาดเล็กประเภทอื่น เช่น ปลาข้าวสาร ปลากระบอก กุ้งแห้ง เป็นต้น ก่อนหน้านี้พบว่าเคยมีการนำลูกปลาทูแปรรูปมาขาย แต่ระยะหลังพบว่าสินค้าขาดตลาด เนื่องจากปลาทูเริ่มหายากขึ้น และมีมาตรการปิดอ่าวเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และรณรงค์ให้เลิกใช้อวนตาถี่ ขณะที่เรือประมงในพื้นที่แหลมฉบัง ส่วนมากเป็นเรือประมงท้องถิ่นที่จับสัตว์น้ำริมชายฝั่ง เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และหมึก ส่วนการจับปลาทูจะเป็นเรือประมงในแถบช่องแสมสาร อำเภอสัตหีบ รวมถึงจังหวัดสมุทรสาคร และเรือทางภาคใต้
นายธนกร ถาวรชินโชติ นายกสมาคมการประมงแสมสาร พาลงพื้นที่สำรวจสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงในตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจสอบดูการจับปลาชนิดต่างๆ พร้อมยืนยันเรือส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นเรือประมงพาณิชย์ที่ออกไปจับปลาน้ำลึกและจับปลาทั่วไป ไม่มีจับลูกปลาทูไปขายเหมือนกับที่มีการกล่าวอ้างอย่างแน่นอน โดยมีการจดทะเบียนถูกต้อง มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ pi-po ออกตรวจก่อนทำการประมงทุกครั้ง และใช้อวนขนาดที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และด้วยลักษณะพื้นที่ทะเลแสมสารเป็นพื้นดิน ไม่ใช่ขี้โคลนและดินเลน เหมือนกับพื้นที่อ่านไทยตอนใน หรืออ่าวไทยรูปตัว “ก” ซึ่งจะมีปริมาณปลาทูมากกว่า ชาวประมงแสมสารจึงไม่นิยมจับปลาทู
นายสงกรานต์ แสงจันทร์ ประมงจังหวัดระยอง บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาทูลดลงไม่ได้มาจากการทำประมงอย่างเดียว เนื่องจากภาครัฐบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด เชื่อไม่มีประมงรายใดกล้าฝ่าฝืน ยังมีปัจจัยจากระบบนิเวศในทะเล และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อแหล่งเพาะพันธุ์หรือแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของปลาทูให้ได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณลูกปลาทูลดลง ทั้งนี้ ไม่เฉพาะลูกปลาอย่างเดียวที่ลดลง สัตว์น้ำในทะเลทุกชนิดก็ลดลงเช่นกัน ตอนนี้ภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันหาวิธีฟื้นฟูระบบนิเวศให้ฟื้นคืนมา และจากการตรวจสอบแพปลาต่างๆ บริเวณปากแม่น้ำระยอง พบมีแพปลาบางแห่งนำปลาขนาดเล็กขึ้นมาขาย และมีการสั่งปลาทูแช่แข็งจากต่างประเทศมาขายให้พ่อค้า ส่วนแผงขายอาหารทะเลแปรรูปไม่พบมีการนำปลาขนาดเล็กมาขาย.-สำนักข่าวไทย