ภูเก็ต 3 ก.ค.- อธิบดี ทช.ลงภูเก็ตตามติดการช่วยชีวิตพะยูนน้อยเพศผู้ วัย 3 เดือน พลัดหลงแม่เกยตื้นที่กระบี่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ล่าสุดร่าเริงขึ้น ขับถ่ายปกติ ชวนร่วมกันตั้งชื่อ พร้อมวางมาตรการดูแลอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก
วันนี้ (3 ก.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือลูกพะยูน เพศผู้ อายุ 3 เดือน ซึ่งพลัดหลงกับแม่มาเกยตื้นในพื้นที่บริเวณบ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนั้นลูกพะยูนมีสภาพอ่อนแรง และอิดโรยมาก ไม่สามารถประคองตัวได้ ตามลำตัวมีบาดแผลจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 50 ของสภาพภายนอก นอกจากนี้ ยังพบภาวะ การขาดน้ำ จากสภาพดังกล่าวทำให้ไม่สามารถจะอยู่ในธรรมชาติได้ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ไปก่อน จากการตรวจสอบสุขภาพประจำวันล่าสุด (3 ก.ค.) พะยูนน้อยเริ่มร่าเริงดี กินดี มีการขับถ่ายลักษณะปกติ
นายจตุพร กล่าวว่า ลูกพะยูนเพศผู้ตัวนี้มาอยู่ในความดูแลที่ศูนย์ฯ แหลมพันวา เป็นวันที่ 3 แล้ว สุขภาพค่อนข้างแข็งแรงดี แต่เนื่องจากการดูแลพะยูนถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด และจะระดมสัตวแพทย์จากที่อื่นมาช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนลูกพะยูนตัวนี้จะพาไปเลี้ยงในพื้นที่เปิดเหมือนกับลูกพะยูน “มาเรียม” ที่ขณะนี้อยู่ในความดูแลที่จังหวัดตรังหรือไม่นั้น หากแข็งแรง 100% และแผลต่างๆ หายเป็นปกติ จะหารือกันอีกครั้งว่าสามารถพาไปอยู่ในพื้นที่เปิดได้หรือไม่ พร้อมกันนี้ ขอขอบคุณเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ เมื่อพบพะยูนแล้วมีการปฐมพยาบาลจนนำมาสู่การดูแลอย่างปลอดภัยที่ศูนย์ฯ ทช. ทำให้สัตว์ทะเลสามารถมีชีวิตรอด ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตั้งชื่อ อาจจะให้ประกวดตั้งชื่อลูกพะยูนเพศผู้ตัวนี้เหมือนกับการตั้งชื่อ “มาเรียม” ซึ่งตั้งโดยพี่น้องบนเกาะลิบง ที่มีความหมายว่า หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล ก็จะให้มีการประกวดตั้งชื่อผ่านทางเฟซบุ๊ก”
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ประชากรพะยูนในปัจจุบันดีขึ้นอย่างมาก ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีพะยูนเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่เปิดคือเครื่องมือประมง สังเกตจากการเกยตื้นมา จะพบว่าโดนเครื่องมือประมงทำร้าย ซึ่งอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจะพะยูนเป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวใหญ่และเคลื่อนตัวช้า ฉะนั้น แนวทางการอนุรักษ์พะยูนคือเพิ่มเติมพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ถ้ามีพื้นที่หญ้าทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อว่าประชากรพะยูนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย