ย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อคุณกฤติกา ฤทธิขันธ์ อายุ 33 ปี ชาวจังหวัดมุกดาหาร ผู้ที่ประสบปัญหาหัวกรอฟันติดอยู่ในเหงือกนานถึง 5 ปี และเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 62 ที่ผ่านมา ทางทีมเเพทย์คณะทัตแพทยศาสตร์ ม.ขอนเเก่นได้ผ่านำวัตถุเเปลกปลอมออกเป็นที่เรียบร้อย โดยเธอเล่าย้อนเรื่องราวสุดทรมานให้ทีมข่าวสำนักข่าวไทยฟังว่า…
>> วันที่ 9 มกราคม 2558 ไปผ่าฟันคุด (ฟันกรามด้านขวา) ที่ รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส (สามีเป็นข้าราชการตำรวจจึงย้ายไปอยู่กับสามี) ในวันนั้นหมอทราบว่ามีชิ้นส่วนอุปกรณ์หล่นอยู่ในเหงือก และพยายามหาตั้งเเต่ 9.00-15.00 น. แต่ไม่สามารถนำออกมาได้ และแจ้งคุณกฤติกาว่า เมื่อแผลประสานชิ้นส่วนที่ติดอยู่จะหลุดออกมาเอง ไม่เป็นอันตราย แต่ผลจากการผ่าฟันคุดทำให้ริมฝีปากชาราว 6 เดือน – 2 ปี หลังผ่าฟันคุดคุณกฤติกาไปพบหมอ 3 ครั้งในช่วง 2 เดือน เพื่อรักษาอาการปากชา
>> เดือนพฤษภาคม 2558 สามีย้ายพื้นที่จึงไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง และทำใจกับอาการริมฝีปากชา ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และคิดว่าหัวกรอฟันได้หลุดออกมาแล้วตามที่หมอบอก และเมื่อเดือนมกราคม 2562 ไปรักษาฟันด้านซ้าย หมอเอ็กซเรย์ และพบว่าหัวกรอฟันยังคงติดอยู่ในเหงือกจนเหงือกบวมไปทับฟันกราม เกิดอาการปวดฟันรุนเเรง
>> ต้นเดือนเมษายน 2562 ทีมทันตแพทย์ รพ.ในอุบลฯ เตรียมผ่านำหัวกรอออก แต่อยู่ๆ กฤติกาได้รับแจ้งว่าผ่าไม่ได้ เพราะกระดูกหุ้มหัวกรอแล้ว ไม่คุ้มที่จะผ่า เพราะต้องเจาะ มีความยาก กรามจะชาหนักกว่าเดิม ทันตแพทย์จึงถอนฟันที่ถูกเหงือกบวมทับออก รักษาอาการปวดฟันรุนแรง และหลังถอนฟันซีกนี้ มีการอาการปวดรุนแรงมาก จนต้องฉีดมอร์ฟีน
คุณกฤติกา เคยร้องขอความช่วยเหลือไปยังทันตแพทยสภา… แต่ไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลือ และหาทางรักษาตัวเองมาตลอด จึงตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดมุกดาหาร มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามคำแนะนำของหลายๆ คนที่บอกว่าที่นี่คุณหมอเก่งมาก จึงเดินทางจากจังหวัดมุกดาหาร แวะนอนที่บ้านตายายจังหวัดร้อยเอ็ด และฝากลูกวัย 7 ขวบ และ 2 ขวบ ไว้กับตายาย
>> เช้าวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เธอเข้ารับการตรวจรักษาที่ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ช่วงเช้า การเข้ารักษาครั้งนี้สร้างความดีใจให้กับกฤติกาและสามี เพราะไม่คิดว่าจะได้ผ่าในทันที เนื่องจากคุณหมอที่อุบลแจ้งว่าผ่าไม่ได้ ทันตแพทย์โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลา 30 นาที ผ่านำหัวกรอฟันออกจากเหงือกคนไข้
รศ.ดร.ทพญ.วรานุช. ปิติพัฒน์ คณบดีทันตแพทยศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. , ผศ.ทพญ.ภัทรมน. รัตนาพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลทันตกรรม, ผศ.ทพ.ศิริพงศ์. สิทธิสมวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเซียล (กระดูกขากรรไกร). พร้อม นางกฤติกา ฤทธิขันธ์ อายุ 33 ปี คนไข้ และ ร.ต.อ.พรทวี ฤทธิขันธ์ สามี ร่วมแถลงผลการผ่าตัด นำหัวกรอออกจากเหงือกของนางกฤติกา ฤทธิขันธ์
ทีมทันตแพทย์แถลงว่าคนไข้เข้ามารักษาด้วยอาการชาที่ริมฝีปากล่างขวา และลิ้น ซึ่งมีอาการมานานราว 5 ปี มีผ่านมามีประวัติผ่าฟันคุด และมีหัวกรอหลุดค้างในเหงือก
ทีมทันตแพทย์ทำการ X-ray 2 มิติ และ X-Ray 3 มิติ เพื่อหาตำแหน่งหัวกรอ และทำการผ่าตัดบริเวณส่วนท้ายขากรรไกรล่างด้านขวา หรือ ตำแหน่งที่ผ่าฟันคุดเดิม ใช้ทีมแพทย์ในการตรวจรักษาหาตำแหน่ง และ ผ่า 4 ท่าน ใช้เวลาในการผ่า 30 นาที ก็สามารถนำหัวกรอออกมาได้ หลังผ่าตัดกฤติกาสามารถพูดคุยได้ตามปกติ และเดินทางกลับบ้านได้ทันที
ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ คนไข้รู้สึกสบายที่ลิ้นตอนนี้อาการชาที่ลิ้นหายไป เหลือเพียงปลายลิ้น ส่วนอาการริมฝีปากชา จะต้องตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องราว 6 เดือน มีการให้วิตามินบำรุง รอการซ่อมแซมของเส้นประสาท ทีมทันตแพทย์กล่าวว่า อาการชาที่ริมฝีปาก บุคคลที่ผ่าฟันคุดมีโอกาสริมฝีปากชาได้ประมาณ 0.3%
อย่างไรก็ตามกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ทำการผ่าตัด เคยเกิดผู้ป่วยลักษณะนี้หลายครั้ง และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเครื่องมือทันตกรรมมีขนาดเล็กมาก และหากมีสิ่งแปลกปลอมหักติดในปาก ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัดต่างๆ จะมีอุปกรณ์ที่พร้อมในการรักษา ขณะที่นางกฤติกากล่าวว่ารู้สึกขอบคุณคุณหมอมาก เหมือนบ่งหนามออกจากอก ตอนนี้โล่งใจแล้ว ขอบคุณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ช่วยตนหลุดพ้นจากความทุกข์
ขอบคุณข้อมูลจาก FB ฐิติญาณ จันทนภูผา