กรุงเทพฯ 25 มิ.ย. – สงครามการค้าทำให้ส่งออกโลกชะลอตัว กดดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ค.ลดลงร้อยละ 3.99 ส่วนแนวโน้มเดือน มิ.ย.น่าจะติดลบ แนะจับตามาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนพฤษภาคม 2562 ว่า MPI อยู่ที่ระดับ 103.68 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.63 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2562 ทำให้ MPI ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (พ.ย.61-พ.ค.62) หดตัวลงร้อยละ 0.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ MPI เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.62) ติดลบร้อยละ 1.26 ส่วนเป้าหมาย MPI ตลอดปี 2562 คาดว่าจะโตร้อยละ 2 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ปรับใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2562 ปรับลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่า จะโตร้อยละ 2.5 ส่วนจีดีพีอุตสาหกรรมปีนี้เป้าหมายปรับใหม่เดือนเมษายน 2562 อยู่ที่โตร้อยละ 1.5-2.5 ปรับลดจากเป้าเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 2-3 ในปีนี้
สำหรับปัจจัยที่กระทบ MPI คือ ความต้องการบริโภคภายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกโลกชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากสงครามการค้าที่ส่งผลให้การส่งออกโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเมษายน 2562 มูลค่าการส่งออกโลกหดตัวลงร้อยละ 1.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อ MPI เดือนพฤษภาคม 2562 ได้แก่ ปุ๋ยเคมียอดขายลดลงจากภัยแล้ง การลดปลูกข้าวนาปรัง และผลจากการที่เกษตรกรลดใช้ปุ๋ยและการเสียตลาดจากการแข่งขันของปุ๋ยจากจีนในตลาดกัมพูชา ลาว และเวียดนาม นอกจากนี้ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ลดลง มียอดผลิตรวม 181,338 คัน หดตัวลงร้อยละ 6.11 มาจากยอดส่งออกลดลงร้อยละ 3.58 ขณะที่ยอดขายภายในประเทศยังขยายตัวร้อยละ 3.7 ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับแท้ และ Hard Disk Drive ขณะที่อุตสาหกรรม สำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม เบียร์
นายณัฐพล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเดือนมิถุนายน 2562 ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด และมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือนพฤษภาคม 2562 ติดลบร้อยละ 2.3 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน อาจส่งผลต่อ MPI ในช่วงเวลาข้างหน้า ซึ่งมีแนวโน้มที่ MPI มิ.ย.62 จะติดลบได้.- สำนักข่าวไทย