กทม. 22 มิ.ย. – เหตุทะเลาะวิวาทวินมอเตอร์ไซค์ซอยอุดมสุข ตำรวจระบุว่าคู่กรณีทั้ง 2 เข้าข่ายวินเถื่อน ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหาผลประโยชน์ของ “กลุ่มอิทธิพล” ในพื้นที่
ผลสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ พบว่าวินมอเตอร์ไซค์มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 24,370 บาทต่อเดือน แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 11,633 บาทต่อเดือน มีต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำมัน ค่าผ่อนรถ และค่าเสื้อวิน คงเหลือรายได้เฉลี่ยเดือนละ 12,736 บาท หรือรายได้เฉลี่ย 424 บาทต่อวัน
มีข้อมูลการเข้าสู่อาชีพ “วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและมีต้นทุนสูง ความเป็นจริง เฉพาะค่าใช้จ่ายก่อนขับวินที่จ่ายให้กับรัฐ มีเพียงค่าขอใบอนุญาตรถสาธารณะและค่าเปลี่ยนป้ายดำเป็นป้ายเหลือง เพียง 570 บาทเท่านั้น แต่ในชีวิตจริงยังมีเรื่องค่าเสื้อวิน และค่าเช่าที่ รวมทั้งค่าต๋งผู้คุมวินอีกด้วย
เฉพาะในย่านชุมชน หรือย่านธุรกิจ อัตราซื้อขายเสื้อวินมีตั้งแต่หมื่นไปจนถึงหลักแสน อาทิ วิน จยย. ในย่านธุรกิจกรุงเทพชั้นใน อาทิ สุขุมวิท อโศก หรือพระราม 4 ราคาเสื้อวินสูงถึงตัวละ 150,000 ขึ้นไป แหล่งข่าวระบุว่า เสื้อวินย่านอโศก อาจแพงถึง 800,000 บาท / ทองหล่อ – คลองเตย-เพชรบุรี เฉลี่ยราว 350,000 – 400,000 บาท / ชานเมืองที่มีชุมชนผู้คนอาศัยจำนวนมาก อาทิ ลาดพร้าว-จตุจักร-เมืองทองธานี เสื้อวินราคาราว 100,000-150,000 บาท
วิน จยย. ในตรอกซอกซอย เสื้อวินราคาอยู่ที่ตัวละ 30,000-80,000 บาท ส่วน วิน จยย. ตามปากซอย เสื้อวินราคาอยู่ที่ตัวละ 80,000-150,000 บาท เช่น ปากซอย อาทิ ท่าพระฝั่งธนบุรี-บางขุนเทียน-บางนา อยู่ที่ 50,000-70,000 บาท
หากไม่ซื้อเสื้อวิน กลุ่มอิทธิพล เปิด “บริการเช่า” ซึ่งพี่วินส่วนใหญ่ มักเลือกใช้บริการนี้ มีราคาหลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับรายได้และปริมาณผู้ใช้บริการในแถบนั้น ซึ่งนอกจาก “ราคาเสื้อวินสีส้ม” นี้แล้ว วินมอเตอร์ไซค์ ยังต้องแบ่งรับได้จากการวิ่งรับส่งไปจ่ายให้ผู้คุมวิน ค่าเช่าพื้นที่วิน ค่าบำรุงท้องที่ เดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาทต่อคันต่อคน ในย่านธุรกิจอยู่ที่ราว 2,000 บาทขึ้นไป ต่อคันต่อคนก็มี สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องมีค่าใช้จ่ายให้กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ราว 14.5% ด้วย แม้มีความพยายามในการจัดระเบียบโดยการจัดตั้งคณะกรรมการจัดระเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 4 ฝ่าย ในช่วงที่ผ่านมาประกอบด้วย คือ ทหาร ตำรวจ กรุงเทพมหานคร และกรมการขนส่งทางบก แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่หวังไว้ เช่นเดียวกับปัญหาซ้ำซากเดิม ทั้งเรื่องการกำหนดค่าโดยสาร / การบริการ / และการจอดรถกีดขวางจราจร .- สำนักข่าวไทย