ไบเทค 19 มิ.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรมระบุขณะนี้ค่ายรถยนต์ในไทยเริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น กำลังผลิตกว่า 600,000 คัน แนะผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวให้ทันกระแสผลิตรถยนต์สมัยใหม่
สถาบันยานยนต์ร่วมกับบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จัดงาน “ออโตโมทีฟ ซัมมิท 2019” ภายใต้แนวคิด Smart Mobility Driving Tomorrow’s Society ซึ่งจัดขึ้นภายใน “แมนนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2019” โดยมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน
นายพสุ กล่าวปาถกฐาพิเศษ “แนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การพัฒนาระบบสัญจรอัจฉริยะเพื่ออนาคต” ว่า เพื่อให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางประเทศไทยมีนโยบายประเทศไทย 4.0 และมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยขณะนี้ค่ายรถต่าง ๆ ในไทยเตรียมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อป้อนตลาด ปัจจุบันมีค่ายรถที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผลิตรถไฮบริด 4 ราย รถปลั๊กอินไฮบริด 4 ราย และรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ 1 ราย มีกำลังการผลิตรวมมากกว่าปีละ 600,000 คัน นับเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท
ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยเริ่มมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพราะขณะนี้แนวโม้นการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ ผู้ผลิตรถยนต์มีแนวโน้มที่จะปรับรูปแบบการจะสั่งซื้อชิ้นส่วนรถโดยเฉพาะรถยนต์สมัยใหม่จะซื้อชิ้นส่วนลักษณะ Module ไม่สั่งซื้อแยกย่อยเป็นรายชิ้นเล็ก ๆ หลาย รายการอีกต่อไป โดยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา การออกแบบ ให้พร้อมรับความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ลักษณะ Module นอกจากนี้ ยังมีการสั่งซื้ออุปกรณ์อัจฉริยะ กล้องติดรถยนต์ และซอฟต์แวร์ คิดป็นมูลค่ารวมกันร้อยละ 40 ของการผลิตรถแต่ละคัน ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการและผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่การใช้เครื่องยนต์ไฮบริดและเครื่องยนต์ไฟฟ้า ผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับตัวด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้น โดยไตรมาสแรกปีนี้นำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนถึง 182,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ด้านสถาบันยานยนต์ได้มีศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของอาเซียนไว้รองรับแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2563 อย่างไรก็ตาม การผลิตรถยนต์ในไทยกำลังปรับไปสู่การผลิตรถไฮบริด และรถปลั๊กอินไฮบริดมากขึ้นแล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ให้ได้. -สำนักข่าวไทย