โคราช 16 มิ.ย. – เลขา คปภ.เชื่อดึงค่ายา ค่าบริการและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลเอกชนเป็นสินค้าควบคุมส่งผลดีเบี้ยประกันสุขภาพมีโอกาสลดลงแถมป้องกันการฉ้อฉล พร้อมเร่งศึกษาประกันภัยพืชผลเกษตรเพิ่มเติม
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.มั่นใจการที่หลายหน่วยงานทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และ คปภ.ร่วมมือกันจัดระบบโครงสร้างการคิดค่ายา ค่าเวชภัณฑ์และค่าบริการทั้งระบบของโรงพยาบาลเอกชนนั้น จะส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจประกันสุขภาพอย่างมาก เพราะจะทำให้ระบบการคิดค่าบริการและค่ายามีความชัดเจนและเมื่อทุกอย่างชัดเจนจะทำให้เบี้ยประกันสุขภาพลดลง เบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเบี้ยประกันสุขภาพจะลดลงได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าเมื่อทุกด้านเข้ามาอยู่ในกรอบและชัดเจนอัตราเบี้ยประกันสุขภาพจะน้อยลงกว่าปัจจุบันแน่นอน
ทั้งนี้ คปภ.อยู่ระหว่างการปรับหลักเกณฑ์ของกฎหมายด้านฐานข้อมูลประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ และกฎหมายประกันสุขภาพทั้งระบบที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา เนื่องจากตัวกรมธรรม์ประกันสุขภาพใช้มานานนับ 10 ปี และบางเงื่อนไขหรือการคุ้มครองไม่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้เมื่อมีการเคลมประกันสินไหมทดแทนประกันสุขภาพตามกรมธรรม์ จึงมีปัญหาจนบางครั้งผู้เอาประกันสุขภาพไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัยได้ ดังนั้น เมื่อมีการปรับรูปแบบใหม่ในตัวแบบสัญญาประกันสุขภาพที่ คปภ.จะประกาศใช้ใหม่ในไม่ช้านี้ เชื่อว่าจะเป็นการคุ้มครองผู้เอาประกันสุขภาพได้อย่างเป็นธรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังจะเป็นการแก้ไขปัญหาและลดการฉ้อฉลการทุจริตต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งการปรับปรุงโดยดึงระบบคอมพิวเตอร์มาใช้จะเป็นการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นสากล ซึ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องและอ้างอิงต่อการคุ้มครองสิทธิ์สร้างความเป็นธรรมประกันได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ คปภ.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการประกันภัยพืชผลและการประกันภัยประมง ซึ่งในส่วนการประกันภัยพืชผลอยู่ระหว่างการปรับเงื่อนไขและการคุ้มครองใหม่ เนื่องจากระบบเงื่อนไขเดิมการชี้ว่าพื้นที่ใดเข้าข่ายอยู่ในเขตภัยพิบัติฉุกเฉินโดยประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นผู้พิจารณา จึงทำให้เกิดความสับสนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อการประกันภัยพืชผล ซึ่งในการแก้ไขช่วงนี้จะให้เจ้าหน้าที่ คปภ.เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาก่อนประกาศว่าพื้นที่ใดเข้าเกณฑ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อจะได้ตรงตามเงื่อนไข รวมทั้งมีการนำเสนอให้ คปภ.ควรพิจารณายกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลและประมงควรมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อจะได้เข้ามาดูแลได้อย่างรัดกุมมากขึ้น ซึ่ง คปภ.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ และได้เตรียมรูปแบบประกันภัยพืชผลและอื่น ๆ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ไว้บ้างแล้วเช่นกัน
สำหรับตัวเลขภาพรวมธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) โดยเบี้ยรับรวมกว่า 200,000 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิตกว่า 140,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 ขณะที่เบี้ยรับประกันวินาศภัยกว่า 59,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 โดยไตรมาสแรกลดลงมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทิศทางสงครามการค้าสหรัฐและจีนยังไม่ชัดเจน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าจะเลือกซื้อประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ และจากความกังวลดังกล่าวทำให้การคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันภัยปีนี้อาจจะติดลบร้อยละ 2-3 หรือมีเบี้ยรับเพียง 830,000 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินภาพรวมครึ่งปีหลังและมีรัฐบาลใหม่ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะออกแนวทางกระตุ้นให้คนหันมาทำประกันภัยและประกันชีวิตมากขึ้น จึงคาดว่าภาพรวมธุรกิจประกันภัยปีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นบวกโตขึ้นร้อยละกว่า 2-3 หรือมีเบี้ยรับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 830,000-860,000 ล้านบาท และเร็ว ๆ นี้จะมีการหารือร่วมกับบริษัทประกันชีวิตและประกันภัยทั้งระบบ เพื่อปรับคาดการณ์ภาพรวมธุรกิจประกันปี 2562 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย