กกต. 19 ส.ค. – “สุเมธ” เตือนคนไทยอย่าเป็นประชาธิปไตยแบบตะแบง ต้องดูตัวเอง ใช้เหตุผลนำทาง และร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบของตัวเอง เหมาะกับสถานการณ์ของบ้านเมือง ต้องมีทางออกสำรอง เพื่อไม่ไปสู่การปฏิวัติ ย้ำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถใช้กับการเมืองได้ ระบุการช่วยเหลือคนยากจนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการปักหลักประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เวลา 09.30 น. วันนี้ (19 ส.ค.) นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ให้กับผู้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 7 ของสำนักงาน กกต.
นายสุเมธ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ช่วยบ้านเมืองให้มั่นคง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เบียดเบียน ไม่คอร์รัปชั่น และว่าตั้งแต่ปี 2512 พวกเราชอบรื้อของเก่า และพยายามหาของใหม่มาแทน
“พระองค์ท่านบอกใจเย็น ๆ ก่อนได้ไหม ก่อนที่จะรื้อของเก่า เราเขียนรัฐธรรมนูญสร้างใหม่ ทิ้งของเก่า ไม่มีสักฉบับที่หยิบของเก่ามาปรับปรุง จะสร้างกี่ครั้งหลักการก็เหมือนกัน แต่เราก็ไม่เอา สุดท้ายก็ไปไม่รอดทุกฉบับ เพราะมันไม่สะท้อนสภาพที่แท้จริงของสังคม ปัจจุบันสถานการณ์รอบโลกเป็นโรคเบื่อระบบเก่า” นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ ได้ยกพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการต่าง ๆ ว่า พระองค์ได้ทรงทำประชาพิจารณ์ด้วยการลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนของประชาชน และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระประชวร พระองค์ทรงเรียกทีมงานเข้าเฝ้าฯ เพื่อประชุม ก่อนที่จะเสด็จไปตามท้องที่ต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ก็ได้นั่งพับเพียบบนพื้น และชี้ไปที่เก้าอี้ที่ประทับ แล้วถามว่าทำไมพระเจ้าอยู่หัวต้องเหนื่อย ต้องลำบากทุกวัน เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่
“เมื่อประชาชนยากจนแล้ว อิสระเสรีภาพเขายังไม่มี และเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้ารัฐบาลมีธรรมาภิบาล ยังไงก็อยู่ได้ ถ้าไม่มีธรรมาภิบาล ต่อให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือเป็นประชาธิปไตยจ๋า คนก็ลุกขึ้นมาขับไล่อยู่ดี เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะพฤติกรรมของนักการเมือง จะตัดสินความอยู่รอดหรือไม่ การเข้ามาต้องถูกต้องและต้องดีด้วย“ นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช่วยเหลือคนยากจน แท้จริงแล้วกำลังปักหลักประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศ ถ้าประชาชนไม่อิ่มท้อง ก็จะถูกชักจูงได้ เมื่อประชาชนอิ่มท้อง ก็จะชักจูงได้ยาก ดังนั้นนับเป็นสาระสำคัญอย่างมาก
นายสุเมธ กล่าวว่า จุดอ่อนของไทยคือการไม่ยอมเป็นตัวของตัวเอง ตามคนโน้นคนนี้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม จึงต้องการจะฝากนักการเมืองทั้งหลายที่นั่งเรียนอยู่ในหลักสูตรนี้ ให้ช่วยกันดู เพราะไม่เคยออกแบบอะไรที่เหมาะกับตัวเอง เอะอะก็ต้องประชาธิปไตย
“ก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ วางระบบเศรษฐกิจ ต้องเช็กตัวเองดูก่อน ประมาณตัวเองก่อน หากผมเป็นนายกรัฐมนตรีจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องนำทาง จะต้องประเมินตัวเองก่อน ควรทำในสิ่งที่เราถนัด เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้มั่นคง ยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกัน มีความรู้ทันโลก” นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้กับการเมืองได้ การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเคลียร์ประเทศในทางที่ถูกต้อง ต้องประเมินสถานการณ์ ยกตัวอย่างการร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อนจะร่างเราต้องประเมินสถานการณ์ของประเทศก่อนว่าวันนี้กับ 10 ปีที่แล้วเหมือนกันหรือไม่ หรือวันนี้กับก่อนรัฐประหารต่างกันอย่างไร
นายสุเมธ กล่าวว่า ดังนั้น ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วง เพราะสถานการณ์จะไม่เหมือนกัน ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง อย่ามัวแต่ตะแบงถึงหลักการประชาธิปไตย โดยไม่ดูสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
“จะเหมือนว่าเราปวดท้องแล้วไปกินยาแก้ไข้ หรือเป็นมะเร็งแล้วให้กินยาหอม ซึ่งก็ไม่หาย เช่นกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปในอิรักและอัฟกานิสถาน ด้วยข้อกล่าวหาไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็เข้าไปสถาปนาประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และจะรอดหรือไม่รอดก็ยังไม่รู้ ดังนั้น เราจะต้องทำให้ดี ให้มีภูมิคุ้มกัน เพื่อจะได้ไม่มีการแก้ไขบ่อย ๆ ผมไม่อยากบอกว่าให้มีคนกลางมาเป็นนายกฯ แต่ก็ต้องมีทางออกเป็นท่อไอเสีย จะได้ไม่จนมุม แล้วนำไปสู่การปฏิวัติอีก และที่เกิดเหตุ เพราะเราล้นเกินไป” นายสุเมธ กล่าว. – สำนักข่าวไทย