รัฐสภา 19 ส.ค.-สมชายเผยสนช.แลกเปลี่ยนความเห็นกับกรธ. เพื่อให้การปรับแก้บทเฉพาะกาลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงประชามติ ย้ำการเลือกนายกฯยังเป็นสิทธิของส.ส. เว้นแต่เลือกไม่ได้จึงเป็นหน้าที่ของส.ว.
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) หนึ่งในผู้เข้าร่วมชี้แจงเจตนารมณ์คำถามพ่วงประชามติต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า การหารือร่วมกันวันนี้(19 ส.ค.) เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กับกรธ. โดยหลักคือการให้รัฐสภาเป็นที่ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีในวาระ 5 ปีแรก
“ส่วนอำนาจการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกันหลายแบบ หากตีความตามตัวอักษรแบบกว้างเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญในอดีตที่ระบุว่าให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ดังนั้น กรณีนี้เท่ากับสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตามเป็นการแลกเปลี่ยนกัน การตีความนี้ ไม่ตบตาประชาชน ไม่ได้ตีความเกินเลยจากคำถามพ่วงที่ถามประชาชน แต่สุดท้ายรายละเอียดขั้นตอนและวิธีการขึ้นอยู่กับกรธ.จะเป็นผู้ปรับแก้ โดยยึดหลักว่าจะแก้บทหลักให้น้อยที่สุด ” นายสมชาย กล่าว
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวว่า สิทธิการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองยังเป็นของ ส.ส. ซึ่งหากสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในชั้นนี้เท่ากับว่าได้ข้อยุติ แต่หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อได้ จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการขอยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชี ซึ่งขั้นตอนนี้ส.ว.จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของกรธ.-สำนักข่าวไทย