นนทบุรี 3 มิ.ย. – สถาบันอัญมณีฯ เผยสงครามการค้าฉุดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 4 เดือน ติดลบร้อยละ 8.30 คาดแนวโน้มยังทรงตัวต่อเนื่องถึงไตรมาสหน้า
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 3,792.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.30 หรือ 119,586.73 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.35 หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 2,376.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.21 หรือ 74,947.88 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.22
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 4 เดือนของปี 2562 ปรับตัวลดลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้บรรยากาศการค้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลง จากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดลงและยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปัญหา Brexit ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ทำให้มีผลกระทบต่อตลาดเงินโลกในระยะต่อไปได้ โดยมองว่าปัจจัยลบจากสงครามการค้าจะยังคงมีผลต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่จะยังทรงตัวระดับนี้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสหน้า เพราะหากยังไม่คลี่คลายก็จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นในการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับลดลง แต่ถ้าคลี่คลายและมีทางออกคาดว่าการส่งออกจะกลับมาดีขึ้นได้
ทั้งนี้ สถาบันอัญมณีฯ มีข้อแนะนำผู้ส่งออกใช้โอกาสนี้พัฒนาการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพิ่มช่องทางการค้าขายออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่มีโอกาสและขยายตัวสูงในปัจจุบัน และควรทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผันผวนจากค่าเงินบาท และภาพรวมการส่งออกเป็นรายสินค้า พบว่า เครื่องประดับแท้ เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลงร้อยละ 15.76 ร้อยละ 6.63 และร้อยละ 9.05 ตามลำดับ เพชร ลดลงร้อยละ 14.44 เพชรเจียระไน ลดลง ร้อยละ 15.25 พลอยก้อน เพิ่มร้อยละ 151.41 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม ร้อยละ 3.42 แต่พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลดร้อยละ 0.48 เครื่องประดับเทียม เพิ่มร้อยละ 5.56 และโลหะเงิน เพิ่มร้อยละ 227.76 ขณะที่ทองคำ ลดลงร้อยละ 11.62
ส่วนตลาดส่งออกฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ยังคงติดลบร้อยละ 10.49 มาจากการส่งออกเพชรลดลง สหภาพยุโรป ลดร้อยละ 1.71 จากการส่งออกไปเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดสำคัญลดลง สหรัฐลดร้อยละ 6.22 จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ เงิน และทอง ลดลง กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลดร้อยละ 4.98 เพราะกำลังซื้อลดจากเศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่น ลดร้อยละ 13.30 จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลดร้อยละ 27.97 จากการส่งออกไปออสเตรเลียลดลง รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลดร้อยละ 78.70 จากการส่งออกไปรัสเซียที่กำลังมีความขัดแย้งกับหลายประเทศลดลง แต่อินเดีย เพิ่มร้อยละ 21.81 จากการส่งออกพลอยก้อนและเงินเพิ่มขึ้น จีน เพิ่มร้อยละ 2.14 จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเพิ่ม และอาเซียน เพิ่มร้อยละ 15.50 จากการที่สิงคโปร์นำเข้าเครื่องประดับเทียมเพิ่มขึ้นเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย