กรุงเทพฯ 30 พ.ค. – การผลิตน้ำมันกัญชาต้องตอบโจทย์ให้ตรงกันทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต ทำให้องค์การเภสัชกรรม และกรมการแพทย์ ลงนามความร่วมมือเพื่อการผลิตน้ำมันกัญชา ได้สารสำคัญนำไปรักษาผู้ป่วย
ช่อดอกกัญชากว่า 140 ต้น ในโรงเรือนขององค์การเภสัชกรรม กำลังผลิตดอก เตรียมทำน้ำมันกัญชาในเดือนกรกฎาคมนี้ สามารถผลิตน้ำมันกัญชา ขนาด 5 มิลลิลิตร ได้ 2,500 ขวด ซึ่งกระบวนการผลิตต้องตอบโจทย์ผู้ใช้
วันนี้ องค์การเภสัชกรรม จึงได้ลงนามร่วมกับกรมการแพทย์ นำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละโรคมาประเมิน เพื่อหาความต้องการในการใช้น้ำมันกัญชาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และเพื่อศึกษาวิจัยให้สอดคล้องกับการผลิต และมีสารสำคัญเหมาะกับกลุ่มโรค โดยจะผลิตน้ำมันกัญชา 3 สูตร ประกอบด้วย สูตรที่ 1 THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1 เท่ากัน
โรคลมชักในเด็ก 1 ใน 4 กลุ่มโรคที่มีรายงานทางการแพทย์ว่า น้ำมันกัญชาตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ลดความถี่ในการชักแบบรุนแรง แต่ในน้ำมันกัญชาต้องมีสาร CBD สูงถึงร้อยละ 99 สำหรับเกณฑ์ของเด็กที่จะได้รับ ต้องอายุมากกว่า 1 ปี และผ่านการใช้ยาหยุดชักมามากกว่า 2 ตัวแล้ว แต่ไม่ได้ผล โดยคาดว่าจะสามารถรับเด็กเพื่อจ่ายน้ำมันกัญชา จำนวน 370 คน กระจายในโรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยาดูแล
ส่วนการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาแบบประคับประคองในมะเร็งระยะสุดท้าย บรรเทาอาการปวดนั้น ยืนยันว่า ต้องใช้ควบคู่กับมอร์ฟีน ผู้ป่วยไม่สามารถรับแต่น้ำมันกัญชาเพียงอย่างเดียว และต้องติดตามอาการใกล้ชิด ขณะเดียวกัน เตรียมนำน้ำมันกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม มาศึกษาดูการยับยั้งเซลล์มะเร็งที่คนไทยมักป่วย ทั้งมะเร็งตับ ปอด หัวใจ และต่อมน้ำเหลือง
ทั้งนี้ เมื่อได้ตัวเลขความต้องการสารสกัดน้ำมันกัญชาในแต่ละกลุ่มโรคแล้ว องค์การเภสัชกรรม เตรียมร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตน้ำมันกัญชา โดยขณะนี้ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนใจร่วมปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัย แต่ยอมรับปัญหาของกัญชาไทยในขณะนี้ คือ มีปริมาณสาร CBD น้อยกว่ากัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ จึงมีแนวคิดนำเข้าเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
บทสรุปของน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ ยังไม่ยุติ เพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่ที่แน่ชัด สารสกัดจากกัญชาให้ผลดีเฉพาะบางโรค ไม่ตอบโจทย์ทุกโรค เพราะไม่ใช่ยาครอบจักรวาล. – สำนักข่าวไทย