สงขลา 30 พ.ค. – หากพูดถึง จ.สงขลา หลายคนคงรู้จักชื่อสะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปัจจุบันสะพานแห่งนี้นอกจากสร้างคุณูปการให้กับผู้สัญจรไปมาแล้ว ยังสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับชาวบ้านในพื้นที่โดยชาวเกาะยอ การสูญเสีย พล.อ.เปรม จึงสร้างความเศร้าเสียใจให้กับชาวเกาะยอเป็นอย่างมาก
แสงเทียนนับร้อยๆ ดวงที่สว่างไสวอยู่กลางสะพานติณสูลานนท์ คือแสงแห่งความอาลัยของชาวบ้านเกาะยอที่มารวมตัวกันยืนสงบนิ่ง จุดเทียนและร้องเพลงตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน แสดงความอาลัยต่อการจากไปของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือป๋าเปรม ที่พวกเขาต่างรักและเคารพนับถือ
สะพานติณสูลานนท์ คือสะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ทำหน้าที่เชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจาย อ.เมืองสงขลา และบ้านเขาเขียว อ.สิงหนคร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ความยาวรวมกัน 2,640 เมตร ถูกก่อสร้างขึ้นในสมัยที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาการก่อสร้างรวม 3 ปี เปิดใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2527 กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของ จ.สงขลา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
หลังสะพานติณสูลานนท์หรือที่ชาวสงขลานิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าสะพานติณสร้างเสร็จ ไม่เพียงช่วยให้การเดินทางของชาวบ้านจากสงขลา เกาะยอ และสิงหนคร ไปมาหาสู่กันได้ทางรถยนต์แบบสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น สะพานติณสูลานนท์ยังพลิกและเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ยากจนลำเค็ญของชาวเกาะยอให้ดีขึ้นในทุกด้านด้วย
มณีรัตน์ หวนกสินธุ์ ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ต.เกาะยอ ชี้ให้ดูภาพถ่ายของ พล.อ.เปรม บันทึกโดยฝีมือบิดา เมื่อครั้งที่เดินทางมาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์ พร้อมเล่าให้ฟังว่า ชาวเกาะยอต่างซาบซึ้งและตระหนักว่าตกเป็นหนี้บุญคุณรัฐบุรุษผู้นี้ ที่นำความเจริญและสร้างความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตชาวเกาะยอและชาวสงขลา
เธอเล่าว่าในสมัยที่ยังไม่มีสะพานติณสูลานนท์ เกาะยอไม่ต่างจากเกาะกลางน้ำที่ถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ ทั้งการเดินทาง การใช้ชีวิต หรือแม้แต่การทำมาหากิน ล้วนเป็นไปอย่างยากลำบาก ความยากลำบากนี้เองทำให้ชาวเกาะยอจำนวนมากไม่ได้ส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือ ตัวเธอเองจำได้ว่าเคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่เรือหวิดล่มมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในสมัยที่เดินทางไปโรงเรียน โดยเฉพาะในช่วงมรสุมที่ต้องเผชิญกับลมพายุ
สมพิศ สงพะโยม ชาวบ้านเกาะยอรายนี้เล่าว่า พล.อ.เปรม ไม่เพียงแต่เป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม แต่ยังเป็นปูชนียบุคคลที่เปี่ยมล้นด้วยความมีเมตตาและมองการณ์ไกล เขาเล่าว่าเมื่อครั้งก่อนจะมีการก่อสร้างสะพานติณ เขาศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ ชี้นปี 1 ได้ฝ่าวงล้อมเข้าไปพบพลเอกเปรม คัดค้านการก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์ เนื่องจากมองว่าจะส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำโพงพางของชาวบ้านในพื้นที่ แต่แล้วเมื่อ พล.อ.เปรม ทราบความกังวลของเขาและกลุ่มชาวบ้าน กลับรับฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าทีอ่อนโยน ไม่นานก่อนเริ่มสร้างสะพาน พล.อ.เปรม ได้นำปัญหาที่ชาวเกาะยอกังวลกลับไปแก้ไข ด้วยการริเริ่มโครงการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง ความคิดคัดค้านก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์ขณะนั้นจึงสิ้นสุดลง
แม้วันนี้ พล.อ.เปรม จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่นับจากนี้ต่อไป สะพานติณสูลานนท์ที่ยังคงอยู่จะกลายเป็นอีกหนึ่งอนุสรณ์ย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังทราบว่า สะพานที่เชื่อมความเจริญจากน้ำสู่ฝั่งนี้ ได้ถูกบุกเบิกขึ้นในยุคของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่มีนามว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พล.อ.เปรม” กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจประเทศ
คุณูปการของ “พลเอกเปรม” สานใจไทยสู่ใจใต้ ตอนที่ 1
หอประวัติ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เส้นทางการเมืองนายกฯ 3 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นโยบาย 66/2523 ผลงานชิ้นโบแดง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์