กทม. 29 พ.ค. – พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ด้วยระยะเวลา 8 ปี 5 เดือน เป็นนายกฯ คนกลางที่ได้รับการยอมรับจากนักการเมือง ด้วยลักษณะโดดเด่นในการเป็นผู้นำที่เลือกใช้การเมืองนำการทหาร และยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ
เส้นทางเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเข้าร่วมคณะปฏิวัติ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในปี 2520 ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ด้วยการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ควบผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.เปรม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกฯ คนกลาง ในรัฐบาลผสม และเป็นนายรัฐมนตรีต่อเนื่อง 3 สมัย และทุกครั้งสิ้นสุดด้วยการประกาศยุบสภา
รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ พล.อ.เปรม บริหารงานการเมืองจนเป็นที่ยอมรับคือ การชูนโยบายความซื่อสัตย์สุจริต มีความอ่อนน้อม ให้เกียรติผู้ร่วมงาน แต่ยังคงไว้ซึ่งความเข้มแข็ง เด็ดขาด
อีกหนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ แม้จะเป็นนายทหาร แต่เมื่อนั่งเก้าอี้นายกฯ คนกลาง ท่ามกลางพรรคการเมือง พล.อ.เปรม ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ใช้ความอดทน และเคารพความเห็นต่าง จนสามารถฝ่ามรสุมการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และแก้ปัญหาการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนเป็นที่มาของ นโยบาย 66/2523 ที่ส่งผลให้นักศึกษาประชาชนที่เข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง
สอดคล้องกับความเห็นของ ศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ที่เห็นว่า พล.อ.เปรม เป็นบุคคลที่มี “บารมี” อย่างที่จะหาบุคคลอื่นเทียบได้ยาก เป็นผู้นำรัฐบาลที่คิดถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง จนทำให้เป็นที่ยอมรับของบรรดานักการเมือง จะเห็นว่าทุกครั้งที่ พล.อ.เปรม เลือกทางออกแก้วิกฤติปัญหาประเทศด้วยการยุบสภา แต่ที่สุดแล้วเหล่าบรรดาพรรคการเมืองก็ยังคงเห็นร่วมกันที่จะเสนอชื่อ พล.อ.เปรม กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งหลังยุบสภาในปี 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ตกลงว่าจะเชิญ พล.อ.เปรม มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่ปรากฏว่า พล.อ.เปรม ปฏิเสธ โดยมีวรรคทอง คือ “ผมพอแล้ว” ระบุเหตุผลทำนองว่าอยู่ในตำแหน่งนี้มานานแล้ว คิดว่าพรรคการเมืองต่างๆ คงจะช่วยประคองกันไปได้ เป็นการยุติการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย ที่ดำรงตำแหน่งยาวนาน 8 ปี 5 เดือน. – สำนักข่าวไทย