กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – กรมชลประทานปรับเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำใหม่ ทำเส้นโค้งปฏิบัติการน้ำของอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศประจำปี
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่กรมชลประทานจัดทำเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการน้ำแบบพลวัต (Dynamic Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 437 แห่งทั่วประเทศให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศประจำปีร่วมกับสถิติการใช้น้ำ ตลอดจนขีดความสามารถรับน้ำของลำน้ำด้านท้าย จึงได้เป็นเส้นโค้งปฏิบัติการน้ำแบบระยะสั้น เพื่อกำหนดเกณฑ์การเก็บกักน้ำแต่ละห้วงเวลาปริมาณการระบายน้ำที่เหมาะสมควบคู่ไปกับเส้นโค้งปฏิบัติการน้ำที่อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลแบบระยะยาว มั่นใจว่าจะทำให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายทองเปลว กล่าวว่า การนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำให้สภาพอากาศมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น การใช้ Rule Curve จากสถิติน้ำไหลเข้าอ่างปริมาณการใช้น้ำที่เก็บสถิติหลายปีต่อเนื่องที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) และต่ำสุด (Lower Rule Curve) จึงไม่เพียงพอที่จะกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำได้อย่างแม่นยำ กรมชลประทานจึงนำการคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยามาจำลองปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมาจัดทำ Rule Curve แต่ละห้วงเวลาของปี เพื่อใช้ควบคู่กันกำหนดเกณฑ์เก็บกักน้ำและการระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม เช่น ระยะนี้เป็นต้นฤดูฝนมีฝนตกหลายพื้นที่ ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสามารถรองรับได้ จึงได้เก็บกักน้ำสำรองไว้สำหรับช่วงกลางฤดูเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 สามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหลากและน้ำแล้งได้มากขึ้น
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทำเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการน้ำแบบพลวัตระยะสั้นเป็นสิ่งใหม่ที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ จากเดิมใช้ Upper Rule Curve เป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่า ระดับเก็บกักน้ำสูงสุดในอ่างเก็บน้ำไม่ควรสูงกว่าเส้นที่กำหนดและใช้ Lower Rule Curve เป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่า ระดับเก็บกักน้ำต่ำสุดไม่ควรต่ำกว่าเส้นที่กำหนด แต่ความแม่นยำจะน้อยกว่าการใช้ Rule Curve ระยะสั้นกำหนดจากข้อมูลการพยากรณ์อากาศประจำปีร่วมด้วย สำหรับปี 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะคล้ายปี 2550 สามารถนำสถานการณ์น้ำปี 2550 มาเป็นฐานข้อมูลได้ โดยจะช่วยให้ทราบว่าช่วงที่ฝนชุกนั้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ได้มากที่สุดเพียงใด สำหรับช่วงปลายฤดูฝนปีนี้คาดว่าจะมีพายุเข้าอย่างน้อย 1 ลูก กรมชลประทานสามารถตัดสินใจได้ว่าจำเป็นต้องพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเท่าไรเพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ เพิ่ม อีกทั้งสามารถวางแผนแบ่งจัดสรรสำหรับการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้งหน้าเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ดังนั้น จึงมั่นใจว่าการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานปีนี้จะมีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย