กรุงเทพฯ 16 พ.ค. – “ชาญศิลป์” สั่งกลุ่ม ปตท.ประหยัด พร้อมปรับตัวรับสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน มั่นใจผลประกอบการที่เหลือจะดีกว่าไตรมาส 1/62 ลั่นปิดบริษัทในเครือ 20-30 แห่งไม่ได้ทำตามคำสั่งรัฐบาล แต่ขึ้นอยู่กับผลงานทางธุรกิจ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.ได้ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ขณะนี้เริ่มมีผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งกำชับบริษัทในเครือให้ดำเนินการโดยระมัดระวังและประหยัดมากที่สุด และในด้านภาคการส่งออกเม็ดพลาสติกก็ได้ขยายตลาดให้กว้างขวางมากที่สุด เช่น ไปตลาดแอฟริกา ตลาดอินเดีย เป็นต้น ส่วนโรงงานทั้งปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน กรณีการปิดซ่อมบำรุง (Shut Down ) ก็ได้ให้ดูว่า ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ ระยะเวลาสั้น เพื่อให้เกิดต้นทุนต่ำที่สุด
“เราติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นมาอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก็มีผลต่อการทำธุรกิจได้กำชับบริษัทในเครือให้ประหยัดและวางแผนรับมือ” นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ผลประกอบการที่เหลือปีนี้ คาดว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/2562 ที่ผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 29,300 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 26.3% แต่เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาส 4/2561 หรือ 50% ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ผลประกอบการจะต้องดีขึ้นกว่าไตรมาส 4/2561 โดยส่วนที่มีผลกระทบหนักก็คือในส่วนของปิโตรเคมีที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับน้ำมันดิบ (SPREAD )ที่ต่ำลง แต่นับจากช่วงนี้ไปราคาน้ำมันที่ดีขึ้นประกอบกับโรงกลั่นชัทดาวน์ ส่วนต่างราคา ก็คงจะดีขึ้นประกอบกับการบริหารงานด้านต่าง ๆ เชื่อว่าผลดำเนินการจะดีขึ้น
นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ปตท.ได้รายงานต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีวานนี้ (15 พ.ค.) ในเรื่องการปิดบริษัทในเครือ 20-30 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 200แห่ง โดยการดำเนินการปิด-เปิดบริษัทขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในการบริหารธุรกิจของ ปตท. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสั่งการของรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งขึ้นอยู่กับผลดำเนินงานและโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งความจำเป็นในการดำเนินงาน โดยบริษัทที่เหลือส่วนใหญ่มีแนวโน้มธุรกิจที่ดีและมีกำไร
“ที่ผ่านมา ปตท.ดำเนินการมา 40 ปี ก็มีการจัดตั้งบริษัทตามช่วงสถานการณ์และโอกาสในช่วงนั้น ๆ แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วไม่เหมาะสม หรือธุรกิจขาดทุน ก็ต้องพิจารณาปิดกิจการไป เช่น ปาล์มอินโดนีเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณียุโรปไม่รับซื้อปาล์ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อีกกว่า 200 แห่ง ส่วนใหญ่ก็มีกำไร”นายชาญศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย