กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – ธนาคารโลก – กสิกรไทย จ่อปรับลดจีดีพีและส่งออกไทยปีนี้ ผลจากสงครามการค้าพ่นพิษ
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยธนาคารโลก กล่าวในงานสัมมนาแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ค่าเงิน และตลาดหุ้น ว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ธนาคารโลกจะมีการปรับคาดการณ์อัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ จากที่คาดว่าโตร้อยละ 3.8 ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2563 โดยธนาคารโลกกำลังเก็บข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม แต่ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกโตลดลง จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้มีความเสี่ยงจะปรับลดจีดีพีเศรษฐกิจไทย
“สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังจากทั้ง 2 ประเทศมีการขึ้นภาษีตอบโต้กัน โดยต้องติดตามเศรษฐกิจจีนหากเติบโตน้อยลงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและมาเลเซีย แต่เบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจจีนยังโตร้อยละ 6 ซึ่งถือว่าชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบจึงยังไม่ได้เกิดขึ้นมากในปีนี้ แต่ยอมรับว่าความไม่แน่นอนทางการค้ายังมีอยู่สูงมาก จนกระทบการลงทุนให้ชะลอตัว ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนในประเทศไทยเติบโตน้อยกว่าปีที่แล้ว” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนใน 1-2 ปีนี้ เพราะหลายโครงการลงทุนผ่านขั้นตอนการประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว และเริ่มทยอยเบิกงบลงทุนบางส่วน แต่ที่น่ากังวล คือ การลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า หลายโครงการอาจจะชะลอออกไป เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มที่จะปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.7 รวมทั้งลดการขยายตัวของการส่งออกที่คาดว่าโตร้อยละ 3.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ -จีน โดยรอตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะรายงานในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคมนี้ก่อน ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยคาดว่าจีดีพีไตรมาสแรกจะโตร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และโตร้อยละ1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า สงครามการค้ายังส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องถึง 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะนักลงทุนมีมุมมองบวกต่อเงินบาทไทยในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จึงเข้ามาพักเงินในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น รวมถึงกระแสข่าวที่สหรัฐอาจจะเพิ่มรายชื่อประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินบาทจะอ่อนค่าในระยะข้างหน้า แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสหรัฐจะไม่ขึ้นบัญชีประเทศไทย เนื่องจากเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับที่ 4 เมื่อเทียบเงินสกุลภูมิภาค ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าไม่เป็นผลดีต่อการส่งออก ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดลง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไทยสามารถชี้แจงต่อสหรัฐได้ว่า ทางการไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยยังมองว่าแนวโน้มเงินบาทในระยะต่อไปมีโอกาสอ่อนค่าลง โดยสิ้นปีนี้ยังคงเป้าหมายที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะจะมีการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไทยอีกกว่า 19,000 ล้านบาทในสัปดาห์หน้า รวมทั้งการหมดฤดูไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งการส่งออกของไทยปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทำใหการเกินดุลการค้าของไทยน่าจะลดลงกว่าปีก่อน.-สำนักข่าวไทย