นนทบุรี 3 พ.ค. – พาณิชย์แนะผู้ส่งออกข้าวปรับตัวในภาวะค่าเงินผันผวน โดยใช้สกุลเงินท้องถิ่น กระจายตลาดส่งออกปลายข้าว และระยะยาวผลิตข้าวเชิงพาณิชย์
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อานวยการสานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนกับความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกข้าวไทย 4 ประเภท ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวสาร และปลายข้าว ระหว่างปี 2552 – 2561 ไปตลาดสำคัญเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งแต่ละตลาด โดยพบว่าการส่งออกข้าวแต่ละชนิดแต่ละตลาดได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่างกัน และยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างราคาของคู่แข่งและประเภทของข้าว เป็นต้น
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แนะนำผู้ส่งออกข้าวใช้เงินสกุลท้องถิ่นทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะการขายข้าวตลาดจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้เงินหยวนมีบทบาทระดับนานาชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ส่งออกปลายข้าวควรมีกระจายสินค้าไปตลาดอื่นมากขึ้น หลังพบว่ามีการจุกตัวของตลาดส่งออกค่อนข้างสูง ด้านข้าวกล้องซึ่งความต้องการในตลาดโลกขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีราคาอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับข้าวชนิดนี้เพิ่มขึ้น สำหรับระยะยาวเน้นการส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าเพิ่มจากข้าวเชิงพาณิชย์
สำหรับชนิดข้าวและตลาดที่ค่าเงินไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว ส่วนมากเป็นตลาดข้าวพรีเมี่ยม ราคานำเข้าข้าวแต่ละตลาดอยู่ระดับสูง ประกอบกับราคาข้าวไทยต่ำกว่าประเทศอื่น การเพิ่มขึ้นของค่าเงินบาทจึงไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดดังกล่าว เช่น ตลาดข้าวกล้องในสหภาพยุโรป (อียู) สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 258.5 137.6 และ 94.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ และพบว่าไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศเหล่านี้น้อย นอกจากนี้ ตลาดข้าวสารในสหรัฐที่มีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 67.0 และมีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยปีละ 446.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นอินเดีย และปากีสถาน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19.0 และ 2.6 ตามลำดับ ข้าวสารในตลาดสหรัฐ ราคาค่อนข้างสูง และราคาของไทยยังต่ากว่าราคาของอินเดียและปากีสถาน แต่ทั้ง 2 ประเทศกลับมีอัตราการขยายตัวดีกว่าไทย สะท้อนราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแข่งขันในตลาดสหรัฐ นอกจากนี้ ค่าเงินของไทยแข็งค่ากว่าค่าเงินอินเดีย แต่ราคาข้าวไทยกลับเพิ่มน้อยกว่า ดังนั้น ค่าเงินที่แข็งค่าไม่ใช่ปัจจัยหลักส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันตลาดข้าวในสหรัฐ
ตลาดที่ค่าเงินมีความเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว เป็นตลาดที่แข่งขันด้วยราคา ประกอบกับราคาข้าวไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เมื่อค่าเงินสูงขึ้นมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน เช่น ตลาดข้าวสารในจีน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 267.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 30 รองจากเวียดนาม ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 52.6 ราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนาม 1.6 เท่า ทำให้เวียดนามมีความสามารถทางการแข่งขันที่สูงกว่า นอกจากนี้ ตลาดจีนยังมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาที่สูงขึ้นคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เช่นเดียวกับตลาดข้าวสารในสาธารณรัฐเบนิน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 75.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 41.4 รองลงมาเป็นอินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 21.5 และ 13.3 ตามลำดับ โดยความต้องการนำเข้าข้าวของเบนินในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หดตัวร้อยละ 7.4 สวนทางกลับราคานำเข้าข้าวเพิ่มถึงร้อยละ 23.9 โดยภาพรวมราคาข้าวแต่ละประเทศค่อนข้างใกล้เคียงกัน การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวในอนาคตคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันได้ และในส่วนของตลาดปลายข้าว ทั้ง 4 ตลาด คือ เซเนกัล โกตดิวัวร์ จีน และอินโดนีเซีย ไทยเป็นผู้นำตลาด แต่ราคาขายข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก ทำให้การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกและส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน.-สำนักข่าวไทย