กทม. 1 พ.ค. – สถานการณ์แรงงานไทยปีนี้ยังมีปัญหารุมเร้ารอบด้านและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหารายได้ไม่พอใช้ การเลิกจ้างและการขาดแคนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจนต้องกู้หนี้ยืมสิน ยังเป็นปัญหาหลักของแรงงานไทยต่อเนื่องมาหลายสิบปี แม้จะมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้เพิ่มประมาณ 2-10 บาท แต่ตัวแทนภาคแรงงานไทยมองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะราคาสินค้าและบริการได้ปรับขึ้นไปรอล่วงหน้าแล้ว
ในอนาคต สถานการณ์การเลิกจ้างจะมีแต่ทรงกับทรุด เพราะหลายกิจการจะใช้เทคโนโลยีและหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคน แต่ในทางกลับกันก็มีแนวโน้มจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรุนแรง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ชอบงานอิสระหรือธุรกิจส่วนตัวมากกว่าทำงานประจำ
สอดคล้องกับนักวิชาการที่มองว่าปัญหาเดิมๆ ในภาคแรงงานไทยจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ส่วนปัญหาการเลิกจ้างปีนี้จะรุนแรงในบางวิชาชีพ โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร และพนักงานประจำเคาน์เตอร์ เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ นักวิชาการและตัวแทนภาคแรงงานไทยเห็นตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยให้ประเทศไทยรับรองสิทธิคนงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้สำเร็จ หลังยืดเยื้อมาหลายรัฐบาล รวมทั้งออกกฎหมายให้นายจ้างกำหนดโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน ไม่ต้องเรียกร้องการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี . – สำนักข่าวไทย