ทำเนียบรัฐบาล 23 ส.ค. – รัฐบาลอัดแผนส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังหนุนอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าการนิคมฯ ผ่านกฎหมาย 9 ฉบับ หนุนเอกชนเข้าลงทุน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เพื่อเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับแรก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดคำนิยามเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึง พื้นที่เฉพาะตามที่ ครม.ประกาศ เพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service ) ปัจจุบันมี 10 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา นราธิวาส ตราด หนองคาย เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี โดยกำหนดให้ดำเนินการเฉพาะเขตที่ประกาศเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่เสนอ ครม.พิจารณา และยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่ออนุมัติตามกฎหมาย 9 ฉบับ เช่น การจัดตั้ง One Stop Service กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการทำงานของแรงงานต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วย การขออนุญาตในการอยู่ราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว กฎหมายว่าด้วยการสาธารณธสุข กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร จดทะเบียนพาณิชย์ เป็นต้น โดย ครม.ทำหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษี
ส่วน พ.ร.บ.ฉบับที่ 2 คือ พ.ร.บ.การนิคมแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไขกำหนดให้ผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีอำนาจในกฎหมาย 9 ฉบับดังกล่าวเหมือนกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินกิจการภายในกนอ.หวังให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ เปิดทางให้ กนอ.ดำเนินกิจการอื่นเพิ่ม เช่น บริหารกิจการท่าเรือในนิคมอุตสาหกรรมหรือจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. เป็นต้น กฎหมายฉบับที่ 3 คือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2520 มีสาระสำคัญ เพื่อเพิ่มเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนใหม่ ในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นานถึง 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ส่วนกิจการที่ไม่ควรได้รับการส่งเสริมยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 เป็นเวลา 10 ปี เป็นต้น ส่วนอากรขาเข้าสามารถยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้า วัตถุดิบนำเข้ามาสำหรับงานวิจัยและพัฒนา การประเมินผล หากไม่ได้นำมาประกอบและผลิตเพื่อขายในประเทศ
สำหรับ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้รับสิทธิประโยชน์ โดยมีคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามรถในการแข่งขัน มีเงินทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนภาคเอกชน โดยได้รับสิทธิประโยชน์อื่นเพิ่มจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคลได้นาน 15 ปี และสามารถใช้เงินสนับสนุนจากกองทุน สำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ใช้ในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การรับการส่งเสริมการลงทุนสิทธิบัตรต่าง ๆ ทุกใบของบริษัทเอกชนต้องนำผลดำเนินการมารวมกันทั้งหมดในบริษัท เพื่อนำมาคำนวณผลกำไรสุทธิตามแบบประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกับบริษัทมิริแบร์ ซึ่งได้มีการฟ้องร้องต่อศาลภาษีในการส่งเสริมการลงทุน.-สำนักข่าวไทย