กทม. 30 เม.ย.- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายความรู้ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลายเรื่อง เช่น เรื่องดนตรีในพระราชพิธี บอกเล่าถึงความหมายของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดที่ใช้และบรรเลงเพลงที่ยิ่งใหญ่ในพระราชพิธีครั้งนี้
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร คือ ดนตรีในริ้วขบวน ที่มีความสำคัญและความหมายที่ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ
เครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง คือ กลองมโหระทึก มีใช้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่โบราณ อาจารย์ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมบรรยายความรู้เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า กลองมโหระทึกใบโบราณถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อให้คงเสียงดั้งเดิมไว้ โดยในราชสำนักมีทั้งหมด 4 ใบ
เสียงของกลอง หมายถึง เสียงของน้ำไหล สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ และจะใช้ในพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาเท่านั้น
กลองมโหระทึกจัดเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีวงเครื่องประโคม และยังมีเครื่องดนตรีชิ้นอื่น อย่าง แตรฝรั่ง สื่อความหมายถึง เสียงร้องของช้างเจ้าป่า แตรงอน สื่อถึงความเด็ดเดี่ยวและอุดมสมบูรณ์ของป่า และสังข์ หมายถึง เสียงของสวรรค์ และฆ้องชัย มีความหมายว่า โชคดีมีชัย ถ้าเป็นฆ้องชัยสีดำ จะหมายถึงพระราชพิธีทั่วไป หากเป็นฆ้องสีแดง จะหมายถึงงานพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมา
จากงานศึกษาวิจัยเรื่องดนตรีพระราชพิธีสิบสองเดือน และพระราชพิธีตามวาระที่ปรากฏในปฏิทินหลวง ให้ข้อมูลว่า การเรียกชื่อวงประโคมได้รับพระราชทานชื่อจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่า วงพระสวาเคิ่น แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ วงพระสวาเคิ่น 1 ประกอบด้วย แตรฝรั่ง 4 คัน และกลองมโหระทึก 2 ใบ เป็นวงดนตรีที่ใช้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ และวงพระสวาเคิ่น 2 ประกอบด้วย ฆ้องชัย สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ใช้เกี่ยวกับพระราชพิธีทั่วไป
ส่วนอีกประเภทที่ใช้ในพระราชพิธีและมีรูปแบบเฉพาะ คือ วงปี่พาทย์พระราชพิธี ที่มีการลดจำนวนและการประสมวงดนตรีให้เหมาะสมเฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น
ศิลปินอาวุโสจากกรมศิลปากรร่วมกันบรรเลงบทเพลงมหาฤกษ์ เป็นหนึ่งในบทเพลงที่จะปรากฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ละบทเพลงจะมีท่วงทำนองและลักษณะรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น ท่วงทำนองเพลงช้า บรรเลงในช่วงที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาถึง เพลงสาธุการ ใช้ในการจุดธูปเทียน และเพลงกราวรํา บรรเลงเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีและเสด็จพระราชดำเนินกลับ เป็นต้น
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ประชาชนจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และเห็นความงดงามทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและดนตรีที่มีแบบแผนและหลักการตามแบบโบราณราชประเพณีที่ถูกต้อง. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►สถานที่สำคัญสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
► ทดสอบสัญญาณถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
► เกร็ดพระราชพิธี : ความหมายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
► หาชมยาก เปิดภาพของใช้ส่วนพระองค์เมื่อครั้งเสด็จฯ แปลงนาสุพรรณบุรี