กรุงเทพฯ 22 เม.ย. – ย้อนไปดูมหากาพย์ “โครงการโฮปเวลล์” ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 30 ปี และวันนี้ปิดฉากลงแล้ว
ตำนานโฮปเวลล์ เริ่มต้นมหากาพย์เมื่อปี 2533 ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะนั้นมีการเปิดประมูลก่อสร้างทางยกระดับแก้ปัญหาการจราจร และบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของฮ่องกง ที่มีนายกอร์ดอน วู เป็นประธานบริหาร ชนะประมูล
9 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน รัฐบาลเซ็นสัญญาสัมปทานยาวนานถึง 30 ปี เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท โดยโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุน บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนแผนงานก่อสร้าง แบ่งเป็น 5 ระยะ ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี
ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และ มักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี
ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี
ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และ ยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี
และช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี
แผนงาน 5 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี 2534 กำหนดแล้วเสร็จปี 2542 และสิ่งที่รัฐบาลจะได้จากโครงการนี้ นอกจากไม่ต้องเสียเงินลงทุนเอง คือ ค่าตอบแทนรายปีตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี รวม 53,810 ล้านบาท แต่สิ่งที่รัฐบาลเสียเปรียบในการเซ็นสัญญา เช่น ผู้ลงทุนสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ส่วนรัฐบาลบอกเลิกสัญญาไม่ได้ รายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางด่วนยกระดับ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของการรถไฟฯ กว่า 2,000 ไร่
ทั้งนี้ ระหว่างการวาดฝันของรัฐบาลและบริษัท โฮปเวลล์ฯ การก่อสร้างกลับล่าช้า เริ่มตั้งแต่ประสบปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ปัญหาเศรษฐกิจ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ขาดสภาพคล่อง การดำเนินการต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน ทำให้โครงการยักษ์นี้ต้องสะดุด กระทั่งผ่านมาหลายรัฐบาลที่พยายามผลักดันให้โครงการเดินหน้าต่อไป ทั้งสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา เพราะไม่ต้องการเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา เนื่องจากกลัวถูกโฮปเวลล์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
แต่สุดท้ายช่วงปี 2539-2540 บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้หยุดการก่อสร้างโครงการอย่างสิ้นเชิง และรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ ก่อนที่โครงการก่อสร้างจะสิ้นสุดในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 เพราะสร้างมา 7 ปี แต่มีความคืบหน้าเพียง 13%
จากนั้นโฮปเวลล์เดินหน้าฟ้องกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เรียกร้องค่าเสียหายที่ถูกบอกเลิกสัญญา เป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ส่วนการรถไฟฯ ก็ฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายการเสียโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงิน 200,000 ล้านบาท
ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์ จากกรณีบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่น รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยวันที่ 13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากเห็นว่า เวลาการเสนอข้อพิพาทเกินกว่ากำหนดระยะเวลา กรณีนี้คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาท แต่รับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณาและมีคำชี้ขาด เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ แต่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ยังเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด จนมีคำพิพากษาออกมาในวันนี้. – สำนักข่าวไทย