กระทรวงการต่างประเทศ 24 ส.ค.- อดีตเลขาธิการอาเซียน ชี้ภาพลักษณ์ไทยในสายตาโลก ภายหลัง รธน.ผ่านประชามติ มี 2 มุม ทั้งฝ่ายเข้าใจและฝ่ายยึดมั่นในประชาธิปไตย แนะไทยต้องยึดทางสายกลาง ปัดตอบเล่นการเมือง ชี้ไม่มีตำแหน่งก็ช่วยประเทศได้
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติ ว่า มุมมองของต่างชาติยังแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เข้าใจปัญหาเสถียรภาพ ปัญหาความต่อเนื่อง และปัญหาความขัดแย้ง ภายในของไทย ว่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขอย่างต่อเนื่อง กับอีกฝ่ายที่ยังคงยึดมั่นแน่วแน่ในเรื่องของหลักการประชาธิปไตย ที่เรียกร้องต้องการให้ไทยพัฒนาไปสู่สังคมที่เปิดกว้างและประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ตนมองว่าสิ่งดีที่สุด คือไทยต้องยึดทางสายกลาง เร่งแก้ปัญหาภายในประเทศ โดยไม่ลืมค่านิยมของประชาธิปไตย มีโรดแมปที่ชัดเจน และมีการวางแผนพัฒนาสังคมพัฒนาศักยภาพได้ทุกระดับ ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่การแสดงออก เนื่องจากการจำกัดสิทธิไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและวางแผน จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้สำเร็จในระยะยาว
“การให้ประชาชนมีส่วนร่วม สิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราทำได้แบบนี้ คนที่เห็นว่าเรากำลังแก้ปัญหาระยะสั้น และคนที่คิดว่าเราควรกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้ ก็จะรอได้ เพราะถึงจุดหนึ่งเราจะไปถึงจุดนั้นด้วยความมุ่งมั่น” นายสุรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่า เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งและเกิดกรณีที่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกหากมีการทาบทามให้รับตำแหน่งมีความพร้อมหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า เป็นการตั้งสมมติฐานที่ใหญ่เกินไป มีคนมากมายที่พร้อมจะทำหน้าที่นี้
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองในอนาคต นายสุรินทร์ กล่าวว่า การทำงานการเมืองสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตนมองว่าสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาที่สุดคือการศึกษา การให้แรงคิด การกระตุ้นกำลังใจ และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เราต้องมีมาตรการและวิสัยทัศน์ระยะยาว เพราะฉะนั้นตนถึงได้บอกว่า หลังโรดแมปนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำให้ชัดเจน ต้องมีวิสัยทัศน์ระยะยาว ที่ประชาชนมีส่วนร่วมส่วนเขียนด้วย ซึ่งตนพร้อมช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ไม่มีตำแหน่งก็ช่วยประเทศได้ .- สำนักข่าวไทย