กทม. 17 เม.ย.-แพทย์แจงอาการละเมอเดินมักเกิดช่วงครึ่งแรกของการนอน พบบ่อยในเด็ก ป้องกันโดยนอนให้เพียงพอ ไม่อดนอน เข้านอน-ตื่นนอน เป็นเวลา ผู้ที่อยู่ด้วยขณะละเมอ ไม่ควรปลุกหรือขัดขวางสิ่งที่ผู้ละเมอทำอยู่
ผศ.นพ.สิทธิ์เทพ ธนกิจจารุ ศูนย์โรคการนอนหลับ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยว่าการละเมอเดิน คือ การที่คนคนหนึ่งกำลังหลับสนิทอยู่แล้วอยู่ก็ลุกขึ้นมาเดินหรือทำกิจกรรมอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้นก็ได้เช่นหาของกินหรือขับรถ ข้อสังเกตคือมักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของการนอนคือภายใน 2-3 ชม. แรก และสังเกตได้ว่าเป็นการละเมอเดิน คือ จะอยู่ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ตาเหม่อลอย การเดินจะมีจุดหมายไม่ชัดเจน อาจเดินวนเวียนสักพักแล้วก็กลับไปนอนต่อ
พบได้บ่อยในเด็ก ประมาณ 5% เพราะเกิดบ่อยในเด็กจึงคิดว่าเกิดจากสมองของเด็กที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่ก็อาจเกี่ยวกับพันธุกรรมได้เพราะถ้ามีประวัติในพ่อแม่ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นมากขึ้นเท่าตัว นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวกับยาบางชนิดที่มีผลต่อการหลับหรือโรคที่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับ รวมทั้งความเครียด ก็เป็นความเสี่ยง
การป้องกัน นอนให้เพียงพอ ไม่อดนอน เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา ส่วนการรักษา ถ้าเป็นในเด็ก นานๆเป็นที ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นเดือนละหลายๆครั้งทุกอาทิตย์ แบบนี้ต้องปฏิบัติตัวตามข้างต้นโดยเคร่งครัดและป้องกันสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเช่นล็อกประตูหน้าต่างอย่างดี และผู้ที่อยู่ด้วยกับผู้ละเมอควรพูดกับผู้ละเมออย่างนุ่มนวลแล้วพาไปนอน การพยายามปลุกหรือขัดขวางสิ่งที่เขาทำอยู่อาจมีพฤติกรรมตอบโต้ที่ก้าวร้าวและเป็นอันตรายได้ คนไข้ที่มีอาการบ่อยๆหรือเข้าสู่วัยรุ่นแล้วยังไม่เลิกละเมอควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนเพื่อหาสาเหตุที่อาจมีซ่อนอยู่และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป มีตัวอย่างการละเมอเดินที่อันตรายได้จากรายงานข่าวเอกสารทางการแพทย์ตั้งแต่เดินตกบันไดบ้าน จะเดินออกนอกบ้านแต่ปีนหน้าต่างออกไปแล้วตกตึกหรือตกจากระเบียง.-สำนักข่าวไทย