ลำปาง 25 ส.ค.- อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีระบุแผ่นดินไหวในเมียนมาร์รู้สึกได้ถึงไทยและใน กทม. เกิดจากรอยเลื่อนใหญ่อรากันปลดปล่อยพลังและอยู่เปลือกโลกเดียวกัน จากนี้ต้องเฝ้าระวัง 8 รอยเลื่อนภาคเหนือในไทยอาจขยับตามได้
นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ จ.ลำปาง เตรียมร่วมพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยา และธรรมชาติ บ่ายวันนี้ (25 ส.ค.) ที่สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปางว่า แผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา จุดศูนย์กลางในประเทศเมียนมาร์ ทำให้หลายจังหวัดของประเทศไทยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ส่วนประชาชนในกรุงเทพมหานครแม้จะอยู่ห่างจุดศูนย์กลางไปกว่า 900 กิโลเมตร แต่มีแรงสั่นสะเทือนกระเพื่อมไปตามชั้นดินรู้สึกได้บนตึกสูง สำหรับจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ จากการตรวจสอบตามแผนที่ทางธรณีวิทยาพบว่ามาจากรอยเลื่อนอรากัน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีพลัง และยาวพาดตอนบนของประเทศเมียนมาร์ลงไปสู่ทะเล ที่ผ่านมารอยเลื่อนนี้ปล่อยพลังออกมาบ่อย แต่ไม่มากเท่ากับครั้งนี้ ซึ่งการปล่อยพลังออกมานั้นถือเป็นเรื่องปกติของรอยเลื่อนใหญ่ที่มีพลัง เพราะรอยเลื่อนนี้เป็นบริเวณเปลือกโลกที่กำลังมุดตัวลง จึงทำให้มีการปล่อยพลังออกมาเป็นแผ่นดินไหวบ่อย
“รอยเลื่อนอรากันก็เป็นรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวจนทำให้เกิดสึนามิขึ้นเมื่อปี 2547 ซึ่งในครั้งนั้นรอยเลื่อนทิศใต้สุดในทะเลเกิดขยับ ด้วยการมุดตัวลง จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหว และสึนามิตามมา แต่ครั้งนี้เกิดขยับทิศเหนือสุดจึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้”
นายทศพร กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องติดตามและเฝ้าระวังจากนี้ไป คือ รอยเลื่อนอรากันถือว่าอยู่แนวเปลือกโลกเดียวกันกับประเทศไทย จึงต้องจับตาดูรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะ 8 รอยเลื่อนในภาคเหนือในประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นรอยเลื่อนขนาดเล็ก แต่บางแห่งก็ยังคงมีพลังอยู่ที่จะต้องจับตาดูว่าอาจจะเกิดการขยับตามหรือไม่ เพราะการเกิดแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ล่วงหน้า และเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ควรมีสติดูแลตัวเองให้ปลอดภัย
ด้านนายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง กรมทรัพยากรธรณี (ดูแล 17 จังหวัดภาคเหนือ) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังมา 12 ชั่วโมง หลังเกิดแผ่นดินไหว ไม่พบว่าพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ ทั้งบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง แม้จุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาร์จะอยู่ห่างภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยไปประมาณ 400 กิโลเมตร และส่งแรงกระเพื้อมมาถึง แต่แรงสั่นสะเทือนยังไม่รุนแรง.-สำนักข่าวไทย