กทม.10เม.ย.-กรมคุมประพฤติเดินหน้ารณรงค์ลดจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติจากกรณีเมาแล้วขับช่วงสงกรานต์ หลังยอดผู้ถูกคุมประพฤติ 3 เดือนแรกของปีพุ่งสูงถึง 16,000 ราย เตรียมนำผู้ถูกคุมประพฤติกว่า 100,000 รายร่วมบำเพ็ญประโยชน์ตามจุดให้บริการประชาชน เพื่อสร้างจิตสำนึกและลดการทำผิดซ้ำ
กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) ร่วมกับสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดโครงการรณรงค์ ‘คุมประพฤติ ร่วมใจ ลดอุบัติภัยทางถนน’ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์2562 โดยมีภาคประชาชนและผู้ถูกคุมประพฤติมาร่วมงานเสวนา เดินรณรงค์บริเวณหน้าศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เขตปทุมวัน และปั่นจักรยาน ไปในเส้นถนนพระราม 4 รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงความปลอดภัยทางถนน และกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกในการใช้ถนนอย่างปลอดภัย ในช่วงก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์
นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ในเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้สั่งการให้สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ สนับสนุนการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ภาคเอกชน อาสาสมัครคุมประพฤติ รวมทั้งภาคประชาชน โดยให้จัดเจ้าหน้าที่อาสาคุมประพฤติ เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติเข้าไปร่วมทำหน้าที่ในหน่วยบริการประชาชนและจุดตรวจต่างๆ รวมทั้งนำผู้ถูกคุมประพฤติที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ ที่อยู่ในเงื่อนไขของศาลให้ต้องทำประโยชน์ให้กับสังคม กระจายไปช่วยอำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรและด้านอื่นๆในจุดบริการด้วย ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ถูกคุมประพฤติจากความผิดด้านการจราจร รวมทั้งหมดกว่า 100,000คน ในจำนวนนี้เป็นคดีเมาแล้วขับประมาณ 60,000 คน
ทั้งนี้ หวังว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและการรณรงค์จากทุกภาคส่วนจะช่วยให้จำนวนของผู้กระทำผิด ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ลดลงได้บ้างหรือเข้าสู่ระบบคุมประพฤติให้น้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและภาพรวมของประเทศแต่ถ้าหากมีการกระทำผิดเข้ามาก็พร้อมที่จะดูแลและปรับพฤติกรรมอย่างเต็มที่ตามกรอบของกฎหมาย แต่จากตัวเลขของจำนวนผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติจราจรแล้วเข้าสู่ระบบคุมประพฤติภาพรวมปีนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมี 9,000 กว่าคดี โดยกรณีเมาแล้วขับมากที่สุดถึง 8,400 คดี และยังคงมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาล จนล่าสุดปัจจุบัน มีจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติจากคดีเมาแล้วขับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 16,000 คดีแล้ว
ส่วนจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี2561อยู่ที่ 10,000 กว่าคดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน และจากจากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำนวนคดีที่เกิดขึ้นยังคงสูงต่อเนื่องไม่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น
ส่วนขั้นตอนของผู้ที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ เมื่อกระทำผิดและผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล ศาลมีคำพิพากษาให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงื่อนไขคุมประพฤติแล้วก็จะเข้าสู่ระบบคุมประพฤติที่มีการปฐมนิเทศก์ ชี้แจงให้ทราบถึงหน้าที่และข้อปฏิบัติในกรอบของกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะคุมประพฤติในระยะประมาณ1 ปี ไม่มีการกักขัง แต่จะปล่อยตัวให้อยู่ในสังคมตามปกติ โดยใช้เครือข่ายภาคประชาชนช่วยดูแลอีกทาง
ส่วนวิธีการดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ เจ้าหน้าที่จะแยกแยะว่าผู้คุมประพฤติแต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำอยู่ในเกณฑ์ใด ถ้าเกณฑ์ต่ำหรือปานกลาง ก็จะใช้มาตรการทั่วไปในการดูแลเช่นการให้ความรู้ ให้มารายงานตัวตามกำหนดหรือการทำงานบริการสังคมแต่ถ้าเป็นกรณีผู้คุมประพฤติมีความเสี่ยงสูง หรือเคยกระทำผิดซ้ำก็จะมีกิจกรรมที่เข้มข้นมากขึ้นซึ่งกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณร้อย 4-5 ของจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้ในบางกรณีศาลจะใช้ดุลพินิจให้ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเอ็มควบคู่กับมาตรการอื่นๆ เช่น การห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนเพื่อสร้างความตระหนักและป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ และให้โอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการใส่กำไลอีเอ็มประมาณ 15-30วัน .-สำนักข่าวไทย