กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – โตโยต้า-อีซูซุ ประกาศอย่างเป็นทางการ รถกระบะบางรุ่นใช้บี 20 ได้ ส่วนมาตรฐานบี 10 คาดเริ่มประกาศใช้เดือน พ.ค. โดยโรงกลั่นน้ำมันต้องปรับมาตรฐานค่าน้ำ โรงงานผลิตบี 100 ต้องปรับมาตรฐานไขมัน (WAX )
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีค่ายรถยนต์ 2 ค่าย คือ โตโยต้าและอีซูซู ได้ส่งหนังสือยืนยันมายังกระทรวงพลังงาน ว่ารถบรรทุกขนาด 1 ตัน หรือรถระบะ บางรุ่นสามารถใช้บี 20ได้ ในขณะที่คาดว่าค่ายอื่น ๆ จะค่อย ๆ ทยอยยื่นหนังสือยืนยันตามมา โดย 2 ค่ายนี้มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 60-70 ของยอดจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซล จึงมั่นใจว่ายอดใช้บี 20 จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากขณะนี้มียอดขาย 26 ล้านลิตรต่อเดือน หรือ 870,000 ลิตรต่อวัน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งหากรวมกับบี 7 ที่มียอดใช้ประมาณ 50 ล้านลิตร/วัน ก็จะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ หรือซีพี โอ ได้ถึง 2 ล้านตันปี ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปตามยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของประเทศ และคาดว่าจะทำให้สถานีบริการน้ำมันบี 20 มีเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวน 156 สถานี และ Fleet ที่ใช้ 173 แห่ง
สำหรับรุ่นรถของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ใช้บี 20 ประกอบด้วย รถรุ่น Hilux และ Fortuner รุ่นใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป 41 รุ่น (Hilux 37 รุ่น และ Fortuner 4 รุ่น) สามารถใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข รถรุ่น Hilux และ Fortuner รุ่นเก่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 ถึง ค.ศ. 2015 จำนวน 24 รุ่น (Hilux 20 รุ่น และ Fortuner 4 รุ่น) สามารถใช้ได้โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากมีการเติมน้ำมัน บี20 บ่อย ๆ และใช้งานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ต้องติดต่อศูนย์จำหน่ายรถโตโยต้า (Authorized Dealer) เพื่อขอรับคำแนะนำ
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด รถรุ่น D – MAX รุ่นปี 2012 – 2019 จำนวน 20 รุ่น สามารถใช้น้ำมันบี 20 ได้ภายใต้คำแนะนำและการตรวจสอบรวมถึ่งการเปลี่ยนชิ้นส่วนเมื่อจำเป็นโดยศูนย์บริการมาตรฐานอีซูซุ MU – X รุ่นปี 2014 – 2019 จำนวน 12 รุ่น สามารถใช้น้ำมัน B20 ได้ภายใต้คำแนะนำและการตรวจสอบรวมถึงการเปลี่ยนชิ้นส่วนเมื่อจำเป็นโดยศูนย์บริการมาตรฐานอีซูซุ
“จะเห็นได้ว่าบางรุ่นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนชิ้นส่วน คือ ไส้กรองน้ำมัน ท่อยาง บางส่วน จึงจำเป็นต้องเข้าปรับอุปกรณ์ดังกล่าว ส่วนเรื่องอากาศนั้น เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ไม่ได้ มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง ยกเว้นภาคเหนือในช่วงฤดูหนาวดังนั้น จะเห็นได้ว่า การใช้บี 20 ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องไขมันแข็งตัวจนเป็นปัญหาต่อเครื่องยนต์” อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าว
นอกจากนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานบี 100 โดยโรงงานผลิตไบโอดีเซล ต้องปรับมาตรฐานไขมัน (WAX) ในส่วนของโมโนกลีเซอร์ไรด์ปรับลดจากไม่เกินร้อยละ 0.7 เป็นไม่เกินร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนักและโรงกลั่นน้ำมันต้องปรับมาตรฐานน้ำมันดีเซล เรื่องค่าน้ำ (Water Content) จากเดิมเป็นไม่เกิน 300 ppm เป็นไม่เกิน 200 ppm ซึ่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานดำเนินการหารือในเรื่องดังกล่าว ภายในเดือนเมษายน และจะเป็นการรองรับการประกาศมาตรฐานน้ำมันไบโอดีเซล ก็จะทำให้ประกาศปรับเพิ่มมาตรฐานบี 7 เป็นบี 10 ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) นายศิริ ได้เชิญผู้ประกอบการยานยนต์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ มาหารือในเรื่องการประกาศใช้บี 10 หลังจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น (JAMA ) แจ้งว่า รถยนต์สามารถใช้บี 10 ได้แต่ต้องมีการปรับระบบ WAX และค่าน้ำมันดังกล่าว. -สำนักข่าวไทย