กรุงเทพ ฯ 3 เม.ย. – บล.คิงส์ฟอร์ดประเมินดัชนีหุ้นไทยเดือน เม.ย.นี้ทรงตัวในกรอบระดับ 1,620-1,670 จุด เนื่องจากส่วนใหญ่นักลงทุนยังคงรอผลสรุปคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากทาง กกต. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาการค้าสหรัฐ – จีน ที่คาดจะได้ข้อยุติ เม.ย. และประเด็น Brexit
นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยเดือนเมษายน 2562 คาดจะแกว่งตัวในกรอบระดับ 1,620 – 1,670 จุด เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงรอติดตามผลสรุปประเด็นสำคัญ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ผลสรุปคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการจากสำนักงาน กกต. ซึ่งจะต้อง รับรองผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 ให้ได้ก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม หลังจากนั้น 15 วันจะมีการเรียกประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา หลังจากนั้นจึงลงคะแนน 2 สภา รวมเสียง 750 เสียง เพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดจะได้นายกรัฐมนตรีใหม่ประมาณปลายเดือนมิถุนายน ดังนั้นการจับขั้วรัฐบาลจะเห็นชัดเจนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามเดือนเมษายน คือ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าสหรัฐ–จีนที่คาดจะได้ข้อยุติเดือนเมษายนและประเด็น Brexit ที่สภาอังกฤษจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนวันที่ 12 เมษายน หรือ 22 พฤษภาคมนี้
ส่วนผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 1/2562 ประเมินว่าภาพรวมมีโอกาสฟื้นตัวจากแรงหนุนกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่จะกลับมากำไรจากสตอกน้ำมันประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่กำไรกลุ่มธนาคารคาดจะกลับมาขยายจากไตรมาส 4/2561 แม้ว่าสินเชื่อช่วง 2 เดือนแรกยังทรงตัว หรือลดลงร้อยละ 0.35 แต่ภาระกันสำรองและค่าใช้จ่ายน่าจะปรับตัวลดลง แนะนำทยอยซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนหลังเลือกตั้ง เช่น AMATA, BBL, CK, STEC, WHA หุ้นที่ผลบวกจาก MSCI ปรับใช้ NVDR ในการคำนวณดัชนี MSCI Thailand เช่น DTAC, CENTEL, INTUCH, RATCH และเก็งกำไรหุ้นที่คาดกำไรไตรมาส 1/2562 เติบโตดี เช่น BAY, BDMS, BH, CPF, DTAC, ERW, KTC, ROBINS, RS, SAWAD
ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ วิเคราะห์ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ว่าไตรมาส 1/2562 ไม่ใช่ไตรมาสที่ดีนักสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยประมาณการกำไรสทุธิรวมของธนาคาร 9 แห่ง อยู่ที่ 46,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 แต่ลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 กำไรที่ลดลงกดดันโดยฐานรายได้ค่าธรรมเนียมสูงปีก่อน เนื่องจากการฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมดิจิทัลในช่วงปลายไตรมาส 1/2561 ทำให้คาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยไตรมาส 1/2562 จะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ นอกจากนี้้ แม้ว่า พ.ร.บ.ค้มุครองแรงงานฉบับใหม่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ธนาคารจะเริ่มทยอยบันทึกสำรองผลประโยชน์พนักงาน นอกเหนือจากนี้คาดการณ์สินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561
บล.เอเชีย เวลท์ วิเคราะห์ว่าหากเทียบกำไรสุทธิแบบรายปี คาดว่าธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) จะรายงานกำไรสุทธิเติบโตสูงที่สุด ตามมาด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ( BAY) โดยกำไรสุทธิทั้ง 2 ธนาคารคาดได้อานิสงส์หลักจากสินเชื่อที่เติบโตแข็งแกร่ง ส่วนธนาคารทหารไทย ( TMB ) จะรายงานกำไรสุทธิหดตัวมากที่สุด คาดถูกฉุดรายได้ค่าธรรมเนียมกองทุนรวมที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายหุ้นบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด ร้อยละ 65 ไตรมาส 3/2561 รวมถึงส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (NIM )ที่อ่อนตัว เนื่องจากสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ถูกกดดันโดยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากแคมเปญฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมดิจิทัล. – สำนักข่าวไทย