สะพานขาว 29 มี.ค.-สำนักงานสถิติฯ เผยผลสำรวจคนพิการ ปี60 พบผู้พิการ 3.7ล้านคน เเต่เกินครึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนผู้พิการ ขณะที่อยู่ในวัยเรียน ไม่ได้เรียนหนังสือเกือบครึ่ง ส่วนวัยเเรงงานไม่ได้ทำงานกว่าร้อยละ 60 ส่วนใหญ่ยังได้รับการช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐไม่ครบถ้วน เเนะรัฐสนับสนุนให้ครอบคลุม ด้านยูนิเซฟย้ำเป็นประเด็นท้าทายที่รัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้พิการทุกคน
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธานเเถลงผลการสำรวจคนพิการ พ.ศ.2560 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทยจัดทำขึ้น เพื่อสะท้อนสถานการณ์ผู้พิการในประเทศ ทั้งในด้านจำนวน ข้อมูลภาวะสุขภาพ สวัสดิการ การทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตเเละเพื่อให้ประเทศได้มีข้อมูลสถิติคนพิการที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่จะนำไปสู่การวางแผนดูเเลคนพิการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้พิการอย่างมีคุณภาพ
โดยการสำรวจครั้งนี้เก็บข้อมูลจาก 109,000 ครัวเรือนในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2560 ซึ่งปีนี้เป็นปีเเรกที่ใช้ชุดคำถามความพิการของเด็กอายุ 2-17 ปีและ18 ปีขึ้นไป ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มวอชิงตันเเละยูนิเซฟ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะความพิการที่เกิดขึ้นในวัยเด็กเเละกลุ่มผู้ใหญ่เพื่อให้การสำรวจครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด
นายภุชพงค์ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า ไทยมีประชากรพิการ 3.7 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรทั่วประเทศ โดยเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในเชิงพื้นที่ พบผู้พิการนอกเขตเทศบาลมากกว่าในเขตเทศบาล โดยเฉพาะภาคเหนือเเละภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้พิการมากกว่าภาคอื่น เมื่อพิจารณาตามลักษณะความพิการ พบร้อยละ4.1 มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม ร้อยละ4.2 บกพร่องทางร่างกาย จิตใจเเละสติปัญญา เเละกลุ่มผู้พิการที่มีปัญหาทั้งสองลักษณะ ร้อยละ 2.8 หรือประมาณ 1.9 ล้านคน
ขณะที่พบว่าผู้พิการร้อยละ44.4 ได้จดทะเบียนคนพิการร้อยละ43.8 ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ มีเพียงร้อยละ 0.6 ที่จดทะเบียนเเล้วเเต่ยังไม่ได้เบี้ยยังชีพ เเต่ขณะเดียวกันยังมีผู้พิการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคนพิการถึงร้อยละ 55.6 เเบ่งเป็นไม่ต้องการจดทะเบียน หรือความพิการไม่ได้อยู่ในระดับที่จดทะเบียนได้ ร้อยละ 48 ส่วนอีกร้อยละ 7.6 ไม่ได้จดทะเบียนเพราะไม่ทราบข้อมูล ไม่มีคนพาไปหรือเดินทางไม่สะดวก ทั้งนี้ มีผู้พิการร้อยละ15.1 จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยเเต่ไม่มี และ1ใน 5 ของจำนวนนี้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐเเต่ยังไม่ได้รับ
ขณะที่ความช่วยเหลือที่ผู้พิการมีความต้องการมากที่สุด 5 อันดับเเรก ได้แก่ การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเเละการให้คำเเนะนำปรึกษา
นอกจากนี้สำรวจในกลุ่มเด็กพิการวัยเรียนอายุ 5-17 ปี มีร้อยละ 37.8 ที่ปัจจุบันไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งในจำนวนนี้รวมเด็กที่ไม่เคยเรียนหรือเคยเรียนเเต่ปัจจุบันไม่ได้เรียน สาเหตุส่วนใหญ่เพราะป่วยหรือพิการ จนไม่สามารถเรียนได้ ส่วนที่เหลือมีบางส่วนจบการศึกษาเเละบางส่วนมีปัญหาทางความประพฤติ
ส่วนผู้พิการวัยเเรงงานอายุ15-59 ปี มีเพียงร้อยละ 40.6 ที่มีงานทำ ขณะที่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์เเละอินเทอร์เน็ต ของผู้พิการตั้งแต่5 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนน้อยมาก มีเพียงร้อยละ 9.2 เท่านั้น
‘ผลสรุปจากการสำรวจเเสดงให้เห็นว่า ผู้พิการยังได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐบาลไม่ครบถ้วนเพียงพอ ทั้งเรื่องการศึกษา การประกอบอาชีพ การจดทะเบียนคนพิการเเละอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับผู้พิการ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรสนับสนุนให้ครอบคลุม เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าว
ด้าน MR.Thomas Davin ผู้เเทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบหลากหลายประเด็นที่ท้าทายการทำงานเพื่อดูเเลผู้พิการของประเทศไทย ที่จะต้องสร้างความเป็นธรรม การเข้าถึงโอกาสเเละการพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย