กรุงเทพฯ 21 มี.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ ติวเข้ม 14 กรม บูรณาการผสานเป็นหนึ่ง ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกร ขยายผลจากโครงการข้าวโพดหลังนาสู่วิสาหกิจแปลงใหญ่ ภาคเอกชนตอบรับเข้าร่วมโครงการ หลังเห็นผลสำเร็จชัดเจนจากการปรับโครงสร้างการทำงานทั้งระดับกระทรวงและพื้นที่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการปลัดกระทรวง ผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้าหน่วยงานระดับจังหวัดประสานการทำงานให้ใกล้ชิดและสอดประสานกันยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของเกษตรกรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย 14 กรม 4 รัฐวิสาหกิจ และ 3 องค์กรมหาชน ที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างการทำงานโดยงานบริหารจัดการและการกำกับ ตลอดจนเร่งรัดการปฏิบัติงานตามนโยบายต่างๆ มีปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้รับผิดชอบ อีกส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมในพื้นที่ ซึ่งหลายภารกิจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานมากกว่า 1 หน่วยเช่น การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (อ.พ.ก.) ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและหัวหน้าส่วนงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในจังหวัดนั้นๆ เป็นอนุกรรมการซึ่งทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรทำได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ เตรียมขยายผลแนวปฏิบัติงานแบบบูรณาการที่ใช้ในโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาซึ่งกำหนดให้ 5 หน่วยทำงานร่วมกัน ที่เรียกว่า 5 เสือได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ มีชาวนาปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวมาก เหมาะสำหรับหน้าแล้ง อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจึงมีรายได้มากกว่าการทำนาปรัง ดังนั้น จึงจะขยายผลรูปแบบการทำงานตามตัวอย่างดังกล่าวไปสู่โครงการอื่น ได้แก่ การวางแผนการผลิตภาคการเกษตร การกำหนดปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด (โควตาเกษตรกรรม) และโครงการสำคัญที่จะเริ่มในฤดูเพาะปลูกใหม่เดือนพฤษภาคมนี้ คือ โครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะจัดทำต้นแบบแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ต่อ 1 แปลงใหญ่ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะตรวจสอบว่า สภาพดินเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมใด กรมชลประทานเพิ่มศักยภาพในการจัดสรรน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงส่งเสริมการผลิตตามที่กลุ่มเกษตรกรเลือก กรมวิชาการเกษตรให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะทำต้นแบบในพื้นที่ ส.ป.ก. และนิคมสหกรณ์ก่อน โดยจะประสานภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตลอดจนการตั้งจุดรับซื้อ การตั้งโรงงานแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรนำไปสู่การยกระดับรายได้เกษตรกร
“การทำงานของข้าราชการต้องเน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด โดยประสานงานกับหน่วยงานข้างเคียง ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นงานของหน่วยใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งข้าราชการต้องเข้าใจพื้นที่ ทำให้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและปฏิบัติงานเกิดสัมฤทธิผล” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายยงยุทธ ปานสูง กรรมการบริหารบริษัทแปซิฟิกเมล็ดพันธุ์ ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยกล่าวว่า รูปแบบบูรณาการทำงานที่นายกฤษฎาวางไว้ให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ปฏิบัติเห็นผลดีอย่างชัดเจนจากโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งสามารถขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดทดแทนนาปรังถึง 37 จังหวัด โดยกรมต่าง ๆ ร่วมกันดูแล รวมทั้งประสานภาคเอกชนส่งเสริมการผลิต การดูแลแปลง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะเริ่มเก็บเกี่ยวหลังช่วงสงกรานต์ โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ประสานสหกรณ์การเกษตรตั้งจุดรับซื้อครอบคลุมทุกอำเภอ รูปแบบใหม่ในการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมถึงโครงการการวิสาหกิจแปลงใหญ่ที่กำลังจะดำเนินการนั้นเป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งหวังให้รัฐมนตรีเกษตรฯ ของรัฐบาลใหม่มาสานต่อ
“การเพิ่มบทบาททั้งภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรบริหารจัดการวิสาหกิจแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะสามารถยกระดับรายได้เกษตรกร อีกทั้งพัฒนาระบบเกษตรกรรมให้มีศักยภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและแข่งขันในตลาดโลกได้” นายยงยุทธ กล่าว.-สำนักข่าวไทย