นนทบุรี 21 มี.ค. – พาณิชย์เผยมูลค่าส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์สูงเกิน
21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 5.91 หลังจากปัญหาสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย
ส่งผลส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐและจีนปรับตัวดีขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์
2562 ว่า มีมูลค่า 21,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 5.91 จากเดือนมกราคมที่ติดลบร้อยละ
5.6 เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐเริ่มจะหาข้อยุติร่วมกัน
คาดว่าจะมีความชัดเจนเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้
ทำให้ทิศทางการส่งออกทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งผู้นำเข้ามีความมั่นใจนำเข้าสินค้าจากไทย
โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร หลังจากรัฐบาลยกระดับการคุ้มครองแรงงานจนสามารถปลดใบเหลืองทำประมงผิดกฎหมาย
ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของไทย หรือ ไอยูยู
ทั้งนี้ ส่งผลให้การส่งออกไปตลาดหลักขยายตัวถึงร้อยละ 23
จากตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลักที่ขยายตัวถึงร้อยละ 94
แม้จะเป็นการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่สินค้าส่งออกสำคัญ คือ อาวุธ
แต่หากหักออกการส่งออกไปสหรัฐยังขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐขึ้นภาษีกับจีน
ทั้งโซลาเซลล์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอลูมิเนียม ล้วนขยายตัวทุกรายการ เช่นเดียวกับการส่งออกไปตลาดจีนที่ติดลบลดลงเหลือเพียงร้อยละ
1.5 เท่านั้น จากเดือนมกราคมที่ติดลบถึงร้อยละ 16 เนื่องจากไทยสามารถกระจายกลุ่มสินค้าส่งออกไปได้มากขึ้น
ทำให้มีสินค้าใหม่ส่งออกมากขึ้น เช่น
ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 128 และไก่สด เพิ่มส่งออกไปได้ครั้งแรก
33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าสูงกว่าการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์ที่ส่งออกได้ 30
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ 2 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออกรวม 40,547
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังขยายตัวร้อยละ 0.16
ขณะที่การนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ
10 ตามการนำเข้าทองคำลดลง ทำให้เกินดุลการค้า 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยทิศทางการส่งออกปีนี้ แม้ภาพรวมจะยังทรงตัว แต่เชื่อว่าปัจจัยการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของภูมิภาค
รวมทั้งไทยยังปรับตัวได้ดี ทั้งการกระจายกลุ่มสินค้าและกระจายไปยังตลาดใหม่
แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า
ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการเข้าไปดูแลลดความเสี่ยงของผู้ส่งออกและช่วงหลังการเลือกตั้ง
จะยังคงไม่มีรัฐบาลอีกระยะหนึ่งผู้ส่งออกจะต้องหามาตรการป้องกันความเสี่ยง เพื่อพยุงการส่งออกก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนนโยบาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาควรเร่งเจรจาการค้าในกรอบต่าง ๆ ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากการเจรจาการค้ามีความสำคัญในการแข่งขันของผู้ส่งออกจากแต้มต่อด้านภาษีหลังการเจรจาFTA ขณะที่คู่ค้าพร้อมที่จะเจรจากับประเทศไทยเพียงแต่รอความชัดเจนของรัฐบาลใหม่
โดยเฉพาะนโยบายการยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญ 15 อุตสาหกรรม เนื่องจากสินค้าได้รับการยกระดับเป็นสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้นดีต่อการส่งออกในภาพรวมอีกด้วย.
– สำนักข่าวไทย