กรุงเทพฯ 18 มี.ค. – ออมสินผลักดันนโยบายรัฐด้วยแผน 8 ด้าน หลุดพ้นความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมคุณภาพชีวิต
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามที่รัฐบาลกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) สอดคล้อง 8 ด้านสำคัญ คือ National e-Payment ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ธนาคารเพื่อเด็กและเยาวชน ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs/Startup เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้ดำเนินการผ่าน GSB PromptPay มีผู้ลงทะเบียน 2.75 ล้านราย สร้างจุดรับชำระเงินทั่วประเทศกว่า 195,000 จุด ขณะที่มีผู้ใช้บริการ Mobile Banking และ Internet Banking กว่า 5.4 ล้านราย มีผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเดบิตและบัตรเครดิต) กว่า 6.6 ล้านราย พร้อมกับส่งเสริมการใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่องทางบริการอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมการออมที่ให้ความสะดวกและรวดเร็ว ผ่านช่องทาง โครงการ “เด็กดี ออมฟรี ที่ตู้เติมเงินทั่วไทย” และ “เด็กดีออมฟรี 24 ชั่วโมง” ฝากเงินผ่านร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น โดย 2 ช่องทางนี้รวมกว่า 224,000 จุด ส่งผลให้มีผู้ใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 57 เมื่อปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 80 ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยกระดับประชาชนผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยกลไก 3 สร้าง คือ สร้างความรู้/สร้างอาชีพ ด้วยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพกว่า 10,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อสตรีทฟู้ด สินเชื่อโฮมสเตย์ สินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ และสินเชื่อวินมอเตอร์ไซค์ รวมกว่า 100,000 ราย รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย หรือ 1 ล้านรายภายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้พัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้วกว่า 500,000 ราย จากผู้ที่ต้องการพัฒนา 1.47 ล้านราย โดยผู้ได้รับการพัฒนาแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 271,638 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 54.05 มีผู้หลุดพ้นความยากจน 196,001 ราย และหลุดพ้นจากผู้มีรายได้น้อย 47,459 ราย จากผลการวิจัยพบว่าดัชนีคุณภาพชีวิตของบุคคลฐานรากปี 2561 ของธนาคารออมสิน มีแนวโน้มดีขึ้นอยู่ในระดับ 0.7180 จาก 0.6285 ในปี 2559 โดยกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสินมีดัชนีอยู่ในระดับ 0.6385
สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ธนาคารสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยช่วยเหลือผู้ลงทะเบียน 519,087 ราย ธนาคารฯ อนุมัติสินเชื่อ 258,725 ราย จำนวน 10,658 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนไม่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือและไม่มาติดต่อ 234,366 ราย โดยอยู่ระหว่างพิจารณาและเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยฟื้นฟู 25,996 ราย
นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม 53 แห่งทั่วประเทศ มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน 1 ล้านราย วงเงิน 55,000 ล้านบาท ด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงิน และการสร้างวินัยทางการเงินควบคู่กัน ภายใต้กระบวนการครบวงจรตั้งแต่แก้ไขหนี้ไปจนถึงการให้สินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขผ่อนชำระ พักเงินต้น 1-3 ปี หรือจะเป็นการให้สินเชื่อเพื่อสร้างอาชีพเสริม ดอกเบี้ยร้อยละ 0 ปีแรก โดยนำร่องจัดทำ MOU กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ (อมตะซิตี้) ในการสร้างและพัฒนาให้เกิดเมืองที่สมบูรณ์แบบ (Smart City) ยกระดับประชาชนและชุมชนในบริเวณนิคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย