ทำเนียบฯ 6 มี.ค.- ครม.ลดปัญหาฝุ่นละออง เห็นชอบลดภาษีรถกระบะ แนะปรับเครื่องยนต์ เติมดีเซลบี 20 ปล่อยค่า PM ไม่เกิน 0.005 เก็บภาษีลดลงร้อยละ 1-2 พร้อมยกเว้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าก่อนปี 66 ยอมสูญเสียรายได้เข้าคลัง 1,300 ล้านบาท ดูแลสิ่งแวดล้อมลดมลพิษทางอากาศ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เพราะถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ กรมสรรพสามิตจึงเสนอแนวทางลดการปล่อยมลพิษฝุ่น PM ด้วยการกำหนดอัตราภาษีควบคู่ไปกับหลักการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ (CO2) ซึ่งได้จัดเก็บภาษีรถยนต์เดิมอยู่แล้ว
สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์กระบะ ปัจจุบันจัดเก็บทั้งหมด 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.รถกระบะไม่มีแค็ป (No Cab) ปัจจุบันมีการหากปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 2.5 ขณะที่โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 2.5 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ดีเซล B20 เสียภาษีร้อยละ 2 ส่วนรถกระบะไม่มีแค็ป แต่มีค่า CO2 เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 4 โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 4 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ B20 เสียภาษีร้อยละ 2
2.รถยนต์กระบะ (Space Cab) ปัจจุบันหากปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษี ร้อยละ4 โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 4 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ B20 เสียภาษีร้อยละ 3 ส่วนรถที่ค่า CO2 เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 6 โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 6 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ B20 เสียภาษีร้อยละ 5
3.รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ปัจจุบันหากปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 10 โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 10 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ B20 เสียภาษีร้อยละ 9 ส่วนที่ค่าCO2 เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 13 โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 13 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ B20 เสียภาษีร้อยละ 12 และ 4.รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า หากปล่อย CO2 ไม่เกิน 175 กรัมต่อกิโลเมตร เสียภาษีร้อยละ 8 โครงสร้างภาษีใหม่ ค่า PM เกิน 0.005 เสียภาษีร้อยละ 8 และค่า PM ไม่เกิน 0.005 หรือสามารถใช้ B20 เสียภาษีร้อยละ 8
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติปรับลดอัตราภาษีรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) หรือ EV โดยปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นรูปธรรรมและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย รถยนต์อีวีที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเสียภาษีร้อยละ 8 อัตราภาษีใหม่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2565 เสียภาษีร้อยละ 8 อัตราภาษีระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 -31 ธันวาคม2568 เสียภาษีร้อยละ 8 ขณะที่รถยนต์อีวีที่ได้รับการส่งเสริมการบีโอไอ ปัจจุบันเสียภาษีร้อยละ 2 ทำให้อัตราภาษีใหม่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2565 จะได้รับการยกเว้นภาษีเหลือร้อยละร้อยละ 0 อัตราภาษีระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 -31 ธันวาคม 2568 เสียภาษีร้อยละ 2 โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท ทั้ง 2 มาตรการยอมรับว่า การพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อส่งเสริมการลดค่า PM ให้น้อยลง และรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันดีเซล B20 มากขึ้น เพราะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลจะทำให้มีการปล่อยฝุ่นละอองจากรถยนต์ลดลง และยังลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศอีกทางหนี่ง คาดว่าจะกระทรวงรายได้กรมสรรพสามิตหายไป รวมแล้วประมาณ 1,300 ล้านบาท
มาตรการครั้งนี้ส่งผลดีให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถ ยนต์พัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยลดฝุ่น PM ให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 เร็วยิ่งขึ้น และปัจจุบันมาตรฐานยูโร 4 กำหนดให้ปล่อยฝุ่น PM ได้ไม่เกิน 0.025 กรัมต่อกิโลเมตร ดังนั้น ภายใต้สมมติฐานกำหนดให้รถยนต์วิ่งระยะทาง 20,000 กิโลเมตรต่อปี ส่งผลให้รถยนต์ปัจจุบันปล่อยฝุ่น PM เท่ากับ 500 กรัมต่อคันต่อปี หากกำหนดให้มาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM ได้ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร ตามมาตรฐานยูโร 5 ส่งผลให้รถยนต์ดังกล่าวปล่อยฝุ่น PM ลดลงเท่ากับ 100 กรัมต่อคันต่อปี ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2561 มีปริมาณรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู ชำระภาษีสรรพสามิต 190,000 คัน ดังนั้น มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้มีการลดฝุ่น PM ของรถยนต์ที่ชำระภาษีสรรพสามิตในแต่ละปีลดลงประมาณ 76 ล้านกรัมต่อปี
และยังช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและค่าใช้จ่ายภาครัฐเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล โดยฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ ส่ง ผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากมลภาวะทางอากาศนี้อีกด้วย โดยคาดว่าจะมีผลหลังจากลงในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมเป็นต้นไป
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีรถยนต์ตามอัตราการปล่อย CO2 ตั้งแต่ปี2559 บนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก CO2 จากภาคการขนส่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อถูกเผาไหม้จึงปล่อย CO2 ในชั้นบรรยากาศก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักให้เกิดสภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่า มาตรการการจัดเก็บภาษีรถยนต์ตามอัตราการปล่อย CO2 จะมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหามลพิษจากท่อไอเสียที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ได้แก่ รถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ทั้งนี้ ปัจจุบันรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศต้องมีการทดสอบค่ามลพิษอ้างอิงมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งกำหนดให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยฝุ่น PM ได้ไม่เกิน 0.025 กรัมต่อกิโลเมตร
ดังนั้น การใช้มาตรการภาษีเพื่อยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากมาตรฐาน ยูโร 4 (PM ไม่เกิน 0.025) ปัจจุบันเป็นมาตรฐาน ยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยฝุ่นจากท่อไอเสียของรถยนต์ใหม่ ย่อมจะส่งผลประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่คุ้มค่ากับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับนโยบายสนับสนุนรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอให้ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจากอัตราร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวยังมีราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีขนาดใกล้เคียงกัน จึงเห็นควรสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้มีอัตราภาษีพิเศษ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากท่อไอเสีย. -สำนักข่าวไทย