ธปท. 4 มี.ค. – สรท.ขอ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องภูมิภาค ยอมรับส่งออกปีนี้อาจโตต่ำกว่าร้อยละ 5
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. พร้อมทีมผู้บริหาร และคณะทำงาน สรท.ได้เข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่ง สรท.ได้ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค แต่หากอ่อนค่าลงได้มากกว่าภูมิภาค จะทำให้ผู้ส่งออกคลายความกังวลและช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้เงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 50-60 สตางค์ ก็ช่วยให้สบายใจขึ้น
“ปกติ สรท.จะหารือกับ ธปท.ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและ สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน ทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งการหารือวันนี้ทราบสาเหตุเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า” น.ส.กัณญภัค กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและอ่อนค่าจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาติดลบต่อเนื่อง จึงกังวลว่าการส่งออกปีนี้จะโตต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่ำกว่าที่ สรท.คาดการณ์ไว้ โดยจะต้องดูตัวเลขการส่งออกไตรมาส 1/2562 ก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่จะดูแลไม่ให้ติดลบ และจากนั้นจะทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ใหม่อีกครั้ง
“สรท.ยังยอมรับค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ยังยอมรับได้ เพราะต้องมองทิศทางในระยะยาวมากกว่า ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลจาก ธปท.แล้ว ก็เข้าใจ เพราะ ธปท.ดูแลหลายภาคส่วน” น.ส.กัณญภัค กล่าว
น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า จะเน้นย้ำให้สมาชิกประกันความเสี่ยงและให้ค้าขายเป็นเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวน ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เปิดให้ค้าขายต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ประกอบด้วย เงินหยวนของจีน เยนของญี่ปุ่น รูเปียห์ของอินโดนีเซีย และริงกิตของมาเลเซีย พร้อมกันนี้ สรท.อยากเห็นการค้าขายเป็นเงินสกุลภูมิภาคอาเซียนอื่น ๆ มากขึ้น เพราะสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนมีสูงเกือบร้อยละ 25.-สำนักข่าวไทย