กรุงเทพฯ 25 ก.พ.-รัฐบาลจัดพิมพ์ “หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” และ “หนังสือประมวลบทความ-องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจโบราณราชประเพณี-เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ
หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง เป็นที่ปีติยินดีแก่ประชาชนทั่วหล้า ซึ่งการเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ต้องผ่านพิธีการบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระราชพิธีสำคัญ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์ “หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” และ “หนังสือประมวลบทความ-องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ขึ้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยอันงดงาม เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย โดยการจัดพิมพ์แบ่งเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฉบับภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ 2 เล่ม ประมวลบทความ-องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 เล่ม รวมทั้งหมด 4 เล่ม มีเนื้อหาประกอบด้วย ความเป็นมาของพระราชพิธี, ลำดับขั้นตอนพระราชพิธีโดยสังเขป, การเตรียมการพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น-เบื้องปลาย รวมถึงข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธี อาทิ พระปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ สถานที่ประกอบพระราชพิธี พระมหาเจดีย์ สถานที่ตั้งพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด ที่ต้องพลีกรรมตักน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำอภิเษก
ส่วน “หนังสือประมวลบทความ-องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มีรายละเอียดขั้นตอน สถานที่ในการประกอบพระราชพิธี ทั้งพระราชพิธีเบื้องต้น-เบื้องกลาง-เบื้องปลาย รวมถึงคำศัพท์สำคัญต่างๆ เป็นการเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โบราณราชประเพณีอันทรงคุณค่าของชาติให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ E-book ได้ที่เว็บไซต์ www.m-culture.go.th และสแกนคิวอาร์โค้ด สอบถามรายละเอียดสายด่วนวัฒนธรรม โทร.1765.-สำนักข่าวไทย